ชุดตรวจโควิด-19 ราคาพุ่ง จี้รัฐขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม

ห่วง “ชุดตรวจโควิด-19” หาแอนติเจนด้วยตัวเอง Rapid Antigen Test ราคาพุ่ง หลังพาณิชย์ไม่บรรจุในบัญชี “สินค้าควบคุมราคา” รอสัญญาณจากสาธารณสุข แห่ซื้อชุดตรวจใช้ในโรงงาน-บริษัท เปิดตัว 10 บริษัทนำเข้า แค่ 5 เดือนมูลค่านำเข้าทะลักเกือบ 10,000 ล้านบาท

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้โรงพยาบาลทุกแห่งและประชาชนสามารถใช้หรือซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง หรือ Rapid Antigen Test ไปใช้ตรวจโควิดเองที่บ้าน โดยมีคู่มือแนะนำการใช้มอบให้และจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม เป็นต้นไปนั้น

ปรากฏเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาชุดตรวจแบบ Rapid Antigen Test ที่แพงเกินไป โดยเฉลี่ยตกชุดละ 400-500 บาท และยังมีความต้องการชุดตรวจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการระดมซื้อไปใช้ในองค์กรภาคธุรกิจขนาดใหญ่

ยังไม่คุมราคาชุดตรวจ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีการจะดึงชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Antigen Test เข้ามาเป็นสินค้าควบคุม เพื่อควบคุมราคาชุดตรวจว่า ชุดตรวจโควิดถือเป็นเวชภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์มีกฎหมายควบคุมการใช้จากกระทรวงสาธารณสุขเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

ดังนั้น หากจะประกาศให้ชุดตรวจเป็น “สินค้าควบคุม” ในด้านราคาด้วยการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่ ทางกระทรวงพาณิชย์จะต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ ของชุดตรวจดังกล่าว เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าทั้งหมดที่จะต้องทราบข้อมูลแต่ละชนิด มีต้นทุนที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำมาพิจารณา หากมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมราคาชุดตรวจ

“ผลการประชุมวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะดึงชุดตรวจ Rapid Antigen Test ให้เป็นสินค้าควบคุมหรือไม่อย่างใด แต่กระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามอย่างเป็นทางการว่า จะให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้ดึงชุดตรวจเป็นสินค้าควบคุมราคาหรือไม่

หากจะดึงเป็นสินค้าควบคุมทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับตัวสินค้าชุดตรวจว่า มีจำนวนผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมากน้อยแค่ไหนและมีชนิดชุดตรวจกี่ประเภทกี่ชนิดและมีต้นทุนชุดตรวจแยกแต่ละชิ้นเป็นอย่างไร เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมด” นายบุณยฤทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของชุดตรวจครั้งนี้ที่มีการซื้อขายทางออนไลน์มีราคาค่อนข้างสูงและมีการสั่งซื้อกันมากขึ้น แต่การสั่งซื้อทางออนไลน์หรือซื้อทางร้านสะดวกซื้อถือว่าผิดกฎหมาย เพราะตามระเบียบจะอนุญาตให้ร้านขายยาจำหน่ายได้เท่านั้น

โดยผู้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนจากกระทรวงสาธารณสุข จากการสอบถามผู้ประสงค์จะซื้อชุดตรวจ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ พบว่าเดิมมีการเสนอขายราคาชุดตรวจ 1 กล่อง (25 ชิ้น) ในราคา 6,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาได้ปรับขึ้นไปเกือบกล่องละ 10,000 บาทแล้ว

ความต้องการพุ่งพรวด

ความต้องการใช้ชุดตรวจมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทันทีจากหลายองค์กร ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเองก็ได้ทำข้อเสนอถึงรัฐบาลขอการสนับสนุนชุดตรวจ Rapid Antigen Test ให้กับธุรกิจในภาคการค้าปลีกและบริการ เพื่อนำไปใช้ตรวจเชิงรุกให้กับบุคลากรในแต่ละบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด

ขณะที่มูลนิธิมาดามแป้งก็ได้มอบชุดตรวจจำนวน 3,000 ชุด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อส่งต่อไปยังประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง

ทางด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้จัดตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ด้วยการตั้งกองทุน 10 ล้านบาท ช่วยผู้ป่วยโควิดตามมาตรการที่จะทำ มีโรงพยาบาลเกษมราษฎร์เข้ามาช่วยดูเรื่องการใช้ Rapid Antigen Test และหาเตียง โดยได้มอบให้นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานคณะทำงาน จัดหาชุด Rapid Antigen Test ซึ่งเบื้องต้นจัดหามาได้ประมาณ 50,000 ชิ้นในสัปดาห์หน้า

“โรช” ผู้นำเข้ารายใหญ่

สำหรับผู้นำเข้าชุดตรวจโควิด (มกราคม-พฤษภาคม 2564) จะแบ่งออกเป็น 2 พิกัด คือ

1) พิกัด 300215 (KG) ผลิตภัณฑ์ภูมิคุ้มกันวิทยาที่จัดทำขึ้นเพื่อการใช้ตามขนาดที่กำหนดหรือในลักษณะหรือบรรจุภาชนะเพื่อการขายปลีก ได้แก่ บริษัท โรช ไทยแลนด์, บริษัท โรซ ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย), บริษัท แอ๊บบอด ลาบอแรดอรีส,

บริษัท ไบเออร์ไทย, บริษัท แอมเจน (ประเทศไทย), บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย), บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย), บริษัท แจนเซ่น-ชีแลก, บริษัท บริสตอล-ไมเยอร์สสควิบบ์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) และบริษัท เคียววะ ฮัคโค คิริน (ไทยแลนด์) มีปริมาณนำเข้า (เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564) 44,256 กก. มูลค่า 2,280,187,714 บาท

2) พิกัด 382200 (KG) รีเอเจนต์ที่มีวัตถุรองรับหรือรีเอเจนต์ปรุงแต่งแล้วจะมีวัตถุรองรับหรือไม่ก็ตาม สำหรับใช้ในการวินิจฉัยหรือใช้ตามห้องปฏิบัติการ ได้แก่ บริษัท โรซ ไดแอกโนสติกส์, บริษัท แคนาเดียนโซลาร์แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย), บริษัท ซี เมดิค, บริษัท เฮาส์เซน เบอร์นสไตน์,

บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส, บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป, บริษัท ไดอาเจน (ประเทศไทย), บริษัท พี.วี.แอลโฮลดิ้ง, บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา และบริษัท แอลเอฟ เอเซีย (ประเทศไทย) มีปริมาณนำเข้า (เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564) 2,691,552 กก. มูลค่า 7,045,489,474 บาท

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง หรือ Rapid Antigen Test จำนวน 4 รายการจากบริษัทผู้นำเข้า 1) บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) โรงงานผู้ผลิต SD Biosensor เกาหลี

2) บริษัท โรซ ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) โรงงาน SD Biosensor เกาหลี

3) บริษัท เจเนอรัลไซเอนซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ โรงงาน Shenzhen Kisshealth Biotechnology

4) บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล โรงงาน Beijing Lepu Medical Technology

คาดว่า ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะกระจายชุดตรวจไปถึงมือประชาชนได้ตั้งแต่วันนี้ (16 กรกฎาคม) เป็นต้นไป โดยชุดตรวจดังกล่าวระบุ “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้” เป็นการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้าหรือน้ำลาย พร้อมอธิบายวิธีการใช้