อีสานแล้ง ชาวบ้านขอฝนหลวง ลุ้นพายุโซนร้อน “เจิมปากา” เติมน้ำเขื่อน

ประชาชนร้องขอฝนจำนวนมาก เหตุฝนเข้าเขื่อนน้อย กรมฝนหลวงฯ เร่งเข้าช่วยเหลือทุกพื้นที่ ชี้เป้าพื้นที่ภาคอีสาน บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกรมีความต้องการน้ำอย่างมาก ขณะที่ กรมชลประทาน ลุ้นกักเก็บน้ำในทุกเขื่อนใหญ่ หลังกรมอุตุฯ ประกาศเรื่องพายุโซนร้อน “เจิมปากา” คาดส่งผลประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายสุรสีห์  กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนมากว่า 2 เดือนแล้ว แต่หลายพื้นที่โดยเฉพาะเขื่อนหลักต่าง ๆ ของประเทศไทยยังคงมีปริมาณน้ำที่น้อยมาก ประกอบกับร่องมรสุมที่จะพาดผ่านประเทศไทย

มีปรากฎค่อนข้างน้อยครั้ง จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดฝนตกในปริมาณมาก ทำให้พี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเขตทุ่งกุลาร้องไห้ยังคงมีความต้องการน้ำอย่างมาก 

และในขณะเดียวกันมีพี่น้องประชาชนจากทั่วภูมิภาคขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาเป็นจำนวนมาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศที่สนับสนุนกำลังพลและอากาศยาน จึงได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าติดตามสภาพอากาศในการขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนบรรเทาความเดือดร้อนรวมทั้งเติมน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ อ.ห้วยผึ้ง นาคู เขาวง กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และอ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาในวันนี้ พบว่ามีพายุโซนร้อนจำนวน 2 ลูก คือ พายุ “เจิมปากา” ที่อยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ และพายุ “ยีนฟ้า” ที่อยู่ทางทะเลจีนตอนใต้ เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำทางประเทศอินเดียและพาดผ่านมาทางภาคเหนือของประเทศไทย จึงอาจส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณพื้นที่ภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคใต้ทางฝั่งทะเลอันดามัน ตลอดจนภาคตะวันออกมีโอกาสเสี่ยงต่อฝนตกหนักได้ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังการเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มอย่างใกล้ชิด

สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 12 หน่วยปฏิบัติการ จึงขอติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวันหากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที โดยอีก 1 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงคือ หน่วยฯ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีการขึ้นบินปฏิบัติการเนื่องจากเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ 48 ชม. หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ( 21 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,145 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,215 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 41,923 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,564 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 868 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 17,307 ล้าน ลบ.ม. 

ทั้งนี้ จากอิทธิพลของพายุเจิมปากา ส่งผลให้มีฝนตกชุกหลายพื้นที่ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น รวมไปถึงปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันความเค็ม ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตรได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด โดยการปรับการระบายน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับฝนที่ตกลงมา เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ