ผู้ประกอบการรายจิ๋ว เฮรับสิทธิประโยชน์ส่งออก หลังประชุมกองทุนเห็นชอบ

จุรินทร์ ดูแลผู้ส่งออก เพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบการรายจิ๋วรับสิทธิประโยชน์ส่งออก  พร้อมขยายกลยุทธ์เมกะเทรนด์ ดึง BCG ตอบวาระชาติ ด้านทูตพาณิชย์ชิคาโก” ชี้ช่องสินค้าอาหารและเครื่องดื่มขายออนไลน์ในสหรัฐฯ

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่ม “บุคคลธรรมดาที่มีอนาคตเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่” เข้าไปในรายละเอียดกลุ่มเป้าหมายประเภทของผู้ประกอบการที่กองทุนฯ ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเพิ่มการส่งเสริม “ในยุค New Normal” เข้าไปในเป้าประสงค์ของกองทุนฯ อีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการเพิ่มกลุ่มสินค้าและบริการ “เมกะเทรนด์” มี BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมกะเทรนด์ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย

ในที่ประชุมยังได้สั่งการที่ประชุมเรื่องนโยบายในการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานราก ทั้ง SME และ Micro SME ว่ากองทุนฯ จะต้องจัดเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ โดยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อมให้ได้ไปเปิดตลาดในต่างประเทศ โดยจะต้องมีจำนวนผู้ประกอบการขนาดข้างต้นได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรเงินโดยกองทุนฯ อย่างน้อย 10-15% และตนจะติดตามผลการดำเนินการดังกล่าวในการประชุมครั้งต่อไป

จากการรายงานของนางสาวอุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ชิคาโก สหรัฐฯ เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามและหาช่องทางในการขยายการส่งออกให้กับสินค้าไทย ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยล่าสุดได้ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่า เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวรวดเร็วที่สุด ด้วยแรงผลักดันของการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคนิยมการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยเข้าไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เจาะเข้าสู่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้

ทั้งนี้ การจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์ในสหรัฐฯ มีมูลค่า 19,890 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 เพิ่มขึ้น 18.2% และคาดว่ายอดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือประมาณ 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 โดยผู้นำตลาดการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์ 5 รายแรก คือ kroger.com มูลค่า 2,285 ล้านเหรียญสหรัฐ amazon.com มูลค่า 1,734 ล้านเหรียญสหรัฐ walmart.com มูลค่า 1,569 ล้านเหรียญสหรัฐ Costco.com มูลค่า 455 ล้านเหรียญสหรัฐ และ samsclub.com มูลค่า 359 ล้านเหรียญสหรัฐ

“นักการตลาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ให้ข้อคิดเห็นว่า ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์ขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้พัฒนาวัฒนธรรมและนิสัยชอบความสะดวกรวดเร็ว และผู้บริโภคที่ใช้เวลาออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่นักการตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มให้ความเห็นว่า ช่องทางออนไลน์จะเป็นช่องทางในการสร้างการรับรู้แบรนด์สินค้าให้ผู้บริโภคได้รวดเร็ว ทำให้ห้างในสหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น และเร่งทำตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น”

นางสาวอุษาศรี กล่าวว่า สำหรับโอกาสของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทย หากต้องการเข้าสู่การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ สามารถติดตามการเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของสหรัฐฯ เพื่อให้มาเลือกซื้อสินค้าไทย หรือหากต้องการที่จะเข้าไปโดยตรง ก็สามารถศึกษาเพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์ม amazon.com และ walamart.com ได้ เพราะ 2 แพลตฟอร์มนี้ เปิดให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าไปจำหน่ายสินค้าได้  

โดยผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มผ่านแพลตฟอร์มทั้ง 2 สามารถศึกษาวิธีได้จากเว็บลิงค์นี้ https://services.amazon.com/global-selling/overview.html และ https://marketplace.walmart.com

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางโซเซียลมีเดีย ได้แก่ Influencer , Facebook , Twitter และ Instagram เป็นเครื่องในการทำการตลาดและการขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และต้องให้ความสำคัญในเรื่องโลจิสติกส์ในด้านการจัดส่งมอบสินค้าที่รวดเร็ว เพราะเป็นปัจจัยสนับสนุนการค้าทางออนไลน์ โดยควรพิจารณาในเรื่องการเก็บรักษาสินค้าในคลังสินค้าในสหรัฐฯ เนื่องจากแพลตฟอร์มบังคับให้ผู้ขายต้องเก็บสินค้าไว้ในสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า