ธรรมนัส เตรียมแจกกล้าสมุนไพร “กระชายขาว-ฟ้าทะลายโจร” 1 แสนต้น

ธรรมนัส เร่งเคลียร์ที่ ส.ป.ก.-กรมพัฒนาที่ดิน ปลูกฟ้าทะลายโจร กระชายขาว สมุนไพรสู้โควิด-19 ชูศูนย์ส่งเสริมและขยายพันธุ์ในเขตปฏิรูปที่ดินปูพรม จำนวน 5 ศูนย์ พร้อมนำไปแจกจ่ายประชาชนแสนต้น

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายในการปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัลโควิด-19 เป็นจำนวนมาก พืชสมุนไพรที่มีในประเทศไทยได้รับความสนใจหันมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในช่วงนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสำรวจพื้นที่การเพาะปลูก เช่น คุณภาพของดินและน้ำ รวมถึงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะช่วยในการแนะนำความรู้ในการเพาะปลูก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

“จากสถานการณ์ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัลโควิด-19 นั้นรวดเร็วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น สมุนไพรไทย โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงสนับสนุนให้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จึงจะใช้ศูนย์ส่งเสริมและขยายพันธุ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 5 ศูนย์ และศูนย์สมุนไพรแบบครบวงจรที่ อ.แม่มอก จ.ลำปาง ในการปลูกต้นกล้าฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า กระชายขาวและตะไคร้

ซึ่งในแต่ละศูนย์จะผลิตต้นกล้าได้อย่างน้อย 100,000 กล้า พร้อมนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรกว่า 30,000 ราย และจะให้ทางกรมพัฒนาที่ดิน เข้าช่วยสนับสนุนในการให้ความรู้เกี่ยวการใช้ดินและน้ำ นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาส่งเสริมในการผลิต และจะให้ทางกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่ได้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 เพราะจากผลการวิจัยหลายแห่ง ได้ระบุถึงสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโควิดได้ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) มีสรรพคุณสามารถลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักได้ ซึ่งในขณะนี้ฟ้าทะลายโจรขาดตลาดอย่างมาก เพราะประชาชนเริ่มมั่นใจในตัวสมุนไพรมากขึ้น ดังนั้นนี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา และนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรสามารถปลูกฟ้าทะลายโจรให้มีคุณภาพ มีสารสำคัญเพียงพอ เพื่อแปรรูปผลผลิตจำหน่ายเอง หรือจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับหน่วยงานที่จะนำไปแปรรูปเป็นยาเพื่อใช้ในการรักษาต่อไปได้