ครึ่งทางส่งออก’64โตทะลุ15% “จุรินทร์” ชง ครม.อุ้มภาคผลิตฝ่าโควิด

ท่าเรือสินค้า

ครึ่งทางส่งออกไทย โตพรวด 15% ยอดล่าสุด มิ.ย.โต 43.82% มูลค่า 23,699 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเติบโตไปได้ดีทุกกลุ่มเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์เตรียมชงมาตรการกู้ส่งออก เข้า ครม.หลังโควิด-19 กระทบภาคการผลิต หวั่นฉุดส่งออกไตรมาส 3

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกครึ่งปีแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) มีมูลค่า 132,334 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.53% การนำเข้า มูลค่า 129,895 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 26.15% ไทยได้ดุลการค้าครึ่งปีแรก 2,439 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยล่าสุดการส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 23,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 43.82% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 11 ปี ถือว่าเป็นตัวเลขนิวไฮใหม่ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 22,754 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 53.75% ไทยยังได้ดุลการค้า 945 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรเติบโต รวมไปถึงตลาดส่งออกสำคัญขยายตัว เชื่อว่าส่งออกทั้งปีของไทยจะไปในทิศทางที่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ 4%

“แนวโน้มการส่งออกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ยังมองว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องของโควิด-19 ที่กระทบภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานที่ปิดตัว ในประเด็นนี้เห็นว่าอาจจะต้องพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้การผลิตยังคงเดินหน้าเพื่อการส่งออกไปได้ โดยเตรียมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า”

ส่วนกรณีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ใบขึ้นทะเบียนแรงงานหมดอายุ และการกระจายวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงาน ได้มีการหารือกับที่ประชุม ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ภาคการผลิตยังคงเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ และยังมีกิจกรรม 130 กิจกรรมในการส่งเสริมการส่งออก รวมถึงยังร่วมกับเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศด้วย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์

สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ถุงมือยาง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดส่งออกสำคัญก็ขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมไปถึงกลุ่มตลาดอาเซียนที่การส่งออกโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากดูมูลค่าการส่งออกรายสินค้าในช่วง 6 เดือนแรก พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 11.9% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ยางพารา ขยายตัว 60.9% ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 30.2%

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 46.1% กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 0.9% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 3.1% อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 24.2% ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ข้าว หดตัว 30.9% ทูน่ากระป๋อง หดตัว 24.4% และน้ำตาลทรายหดตัว 38.2%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 15.9% โดยสินค้าที่ขยายตัวไปได้ดี เช่น รถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 35.2% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 19.6% เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 29.5% ผลิตภัณฑ์พลาสติก ขยายตัว 11.6% วัสดุก่อสร้าง 32.2% สิ่งทอ 10.6% ผลิตภัณฑ์ยาง 39.8% เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ 16.3%

ส่วนสินค้าที่ลดลง มีอัญมณีและเครื่องประดับ ติดลบ 55.4% ไม้และผลิตภัณฑ์ลดลง 10.6% เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยยังขยายตัวไปได้ดี สะท้อนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 รวมไปถึงราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น หลังมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์โดยเฉพาะตลาดอาเซียน การกระจายวัคซีนของแต่ละประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ซึ่งคาดว่าเป็นผลดีต่อการส่งออกไทย