“EEC” มองข้ามชอตสู่อนาคต ชู “การแพทย์-5G-EV-BCG-ระบบราง”

อนาคต ชู
FILE PHOTO : mohamed Hassan : Pixabay /

ในช่วงครึ่งปีแรก มรสุมโควิดซัดเศรษฐกิจไทยแทบหยุดนิ่ง เหลือเพียงเครื่องยนต์ส่งออกตัวเดียวที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในฝั่งเครื่องยนต์ “การลงทุน” แทบจะไม่ขยับเลย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นไปอย่างเงียบเหงาจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก การเดินทางของนักลงทุนแทบหยุดชะงัก

จะเห็นว่าตัวเลขล่าสุด ไตรมาส 1/2564 มีการลงทุนในอีอีซี 117 โครงการ เงินลงทุน 64,410 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนต่างพยายามดิ้นรนสุดกำลัง ที่จะให้รัฐกระตุ้น “การลงทุน” เพราะอย่างน้อยนี่จะเป็น “เครื่องมือ” ช่วยเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ในเวทีการสัมมนาผ่านคลับเฮาส์ หัวข้อ “EEC ตอบโจทย์ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาได้จริงหรือ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นผู้บรรยายหลัก ภาคเอกชนร่วมรับฟังกว่า 100 คน ยังมองถึงโอกาสการลงทุนในอีอีซีหลายมิติ

กางแผนลงทุนยาวปี’64-66

นายคณิศอัพเดตข้อมูลให้เอกชนฟังว่าปีนี้จะเห็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซี 4 โครงการ คือ รถไฟไฮสปีด ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และสนามบินอู่ตะเภา ที่เริ่มขับเคลื่อนตามแผน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนทั้งปี 2564 จะมีประมาณ 10,000 ล้านบาท

“ปีนี้อาจจะยังไม่เห็นการลงทุนเต็มที่เพราะเป็นช่วงเวลาของการเตรียมพร้อมส่งผ่านโครงการ เช่น จะเริ่มส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดให้กับผู้ชนะการประมูลในเดือนตุลาคมนี้

แต่นั่นจะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีขยับชัดเจนในปี 2565 ประมาณ 1 แสนล้านบาท และขยับเต็มที่ปี 2566 จะมีการขับเคลื่อนการลงทุนเต็มที่ 2 แสนล้านบาท จากภาพรวมการลงทุนทั้งก้อนใน 4 โครงการ 6 แสนล้านบาท”

โฟกัส 4 อุตฯเป้าหมายใหม่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้สิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 4 กลุ่มคือ 5G รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแพทย์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Biocircular Green Economy : BCG)

คำถามคือ หากไทยต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เหล่านี้ แต่ยังใช้มาตรการจูงใจเดิมจะดึงการลงทุนได้อย่างไร เทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีแต้มต่อหลายอย่าง ทั้งมีเอฟทีเอ มีสิทธิประโยชน์การลงทุน

ฉะนั้น ไทยต้องทบทวนมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน เช่น ถ้าต้องการดึง 5G ดึงงานวิจัย ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาระยะยาว

แต่ไม่ได้สร้างผลกำไรทันที ไม่มีรายได้ หากใช้วิธีให้สิทธิประโยชน์ “ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล” ตามกลไกเก่าก็จะไม่เวิร์ก จำเป็นต้องมีการวาง “กลไกใหม่”

ดังนั้น มองว่าการตั้ง “กองทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนา” น่าเป็นทางหนึ่งที่น่าสนใจ

“ตอนนี้เราต้องเลือกว่าเราอยากได้เทคโนโลยีแบบไหน อะไรคือสิ่งที่เหมาะกับตัวเรา จากนั้นต้องมาดูว่ากลไกส่งเสริมการลงทุนเดิมเพียงพอหรือไม่ และต้องเทรนคน โดยใช้หลัก demand driven ว่า อุตสาหกรรมต้องการคนแบบไหนก็เทรนคนกลุ่มนั้น

เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม เช่น ตอนนี้ไทยยังขาดคนขับรถไฟไฮสปีด ซึ่งมีระดับความเร็วมากกว่า 150 กม.ต่อ ชม. เป็นต้น”

Digital Hospital เกิดแน่

ขณะที่การพัฒนาฮับ “อุตสาหกรรมการแพทย์แห่งอนาคต” เป็นสาขาที่ถูกพูดถึงอย่างมากในครั้งนี้ เพราะนี่ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ

ประเด็นนี้ “นายคณิศ” กล่าวว่า ขณะนี้ในอีอีซีมีบางพื้นที่พร้อมรับการลงทุน เช่น ปลวกแดงมีแรงงานย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น มองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องการแพทย์อย่างมาก

โดยมองว่าปีนี้มี 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือ การพัฒนา “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศรีราชา” เป็น digital hospital ซึ่งในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีการติดตามประเมินสุขภาพทางไกลแบบเรียลไทม์

การพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลสมัยใหม่ ที่เรียกว่า genetic ซึ่งจะเป็นการดูแลสุขภาพแจ้งเตือนประชาชนให้รู้จักที่จะป้องกันโรค

เพราะเราจะสามารถวิเคราะห์สุขภาพได้ตั้งแต่ยีนเลยทีเดียว โดยเรื่องนี้มีการพัฒนาแล้วในจีน และอเมริกา รวมถึงในอังกฤษ และการพัฒนาบัณฑิตอาสาในพื้นที่

หันสู่ “อุตสาหกรรมระบบราง”

ขณะที่แผนการลงทุน “ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน” ที่อาจจะต้องชะงักไปจากผลกระทบโควิด-19 ต่อธุรกิจการบินทั่วโลก ต้องอาศัยการฟื้นตัวของธุรกิจนี้ไม่น้อยกว่า 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ในเวทีนี้มีการหยบยกประเด็นว่า ไทยควรผันตัวไปสนับสนุนการลงทุน “อุตสาหกรรมระบบราง” แทน

เนื่องจากเป็นระบบที่ไทยเริ่มมีโครงการลงทุนมากขึ้น ทั้งรถไฟฟ้า MRT รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง ดังนั้น ไทยควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกับระบบราง

ซึ่งตอนนี้ไทยถือว่าภาคเอกชนของไทยมีความพร้อมอย่างมาก ขณะที่ภาครัฐเริ่มมีการตั้ง “กรมราง” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้

“ตอนนี้เราทำ 2 เรื่อง คือ เราคุยกับคนที่ชนะประมูล ที่มาทำสัมปทานโครงการรถไฟฟ้า ชวนมาทำฮับรถไฟ และในอนาคตเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดตลาดไปยังอาเซียน ลาว เมียนมา กัมพูชา


ซึ่งแต่ละประเทศกำลังลงทุนโครงการระบบราง และติดต่อยุโรปให้วางมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น รถไฟฟ้ารางขนาด 1 เมตร หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวรถจักร ตู้ ไม้หมอน ซึ่งผมมองว่า จ.ฉะเชิงเทราเหมาะที่จะลงทุนเรื่องนี้ เป็นโอกาสแต่ก็ต้องออกแรงนิดหนึ่ง”