ครึ่งปีแรก แห่ตั้งธุรกิจสมุนไพร 112 ราย โตเท่าตัวในรอบ 10 ปี

สนค. สมุนไพร
Turmeric powder in wooden bowls on wooden table

การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนมิถุนายน 2564 และครึ่งปีแรก 2564 เพิ่มขึ้น จากปัจจัยธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 112 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 10 เท่า

วันที่  27 กรกฎาคม 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ มีจำนวน 6,093 ราย เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 20,921.90 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 649 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 301 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 240 ราย คิดเป็น 4% 

ขณะที่การจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ครึ่งปีแรก 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 41,022 ราย เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 133,208.18 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,539 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,844 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 1,132 ราย คิดเป็น 3% 

สำหรับธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มีจำนวน 1,048 ราย  ลดลง  22% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 3,145.81 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 74 ราย คิดเป็น 7% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 73 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ จำนวน 39 ราย คิดเป็น 4% 

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการครึ่งปีแรก 2564 มีจำนวน 4,930 ราย ลดลง 20.83% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 30,458.90 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 3,539 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,844 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 1,132 ราย คิดเป็น 3% 

ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564  มีจำนวน 803,794 ราย  มูลค่าทุน 19.59 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 196,631 ราย คิดเป็น 24.46% บริษัทจำกัด จำนวน 605,864 ราย คิดเป็น 73.38% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,299 ราย คิดเป็น 0.16% 

ส่วนการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 47 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 13 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 34 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,889 ล้านบาท  นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ อเมริกา จำนวน 13 ราย เงินลงทุน 221 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน  10 ราย เงินลงทุน 807 ล้านบาท และญี่ปุ่น จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 2,041 ล้านบาท  

ทั้งนี้  เมื่อดูครึ่งปีแรก (มกราคม–มิถุนายน 2564) มีคนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 264 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 40,322 ล้านบาท

นายทศพลกล่าวว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2564 และครึ่งปีแรกของปีเพิ่มขึ้น ขณะที่ กี่เลิกกิจการลดลง อาจมีผลมาจากปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจ เช่น การฟื้นตัวของตัวเลขการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และมาตรการการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม  สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ประชาชน ผู้ประกอบการกังวล และอาจยืดเยื้อ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีแนวโน้มกระจายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจและสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปี 2564 ส่วนหนึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่ายมีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 262 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 28 เท่า และธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 112 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 10 เท่า รวมถึงนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย