โอกาสธุรกิจโลจิสติกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใน CLMV (1)

คอลัมน์ แตกประเด็น
อรมน ทรัพยทวีธรรม

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้การค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นที่นิยมในประเทศสมาชิกอาเซียน อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แพลตฟอร์มที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยมีผู้ประกอบการรายสำคัญ เช่น Lazada และ Shopee ให้บริการในอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

และแพลตฟอร์มท้องถิ่นที่ให้บริการเฉพาะในแต่ละประเทศ เช่น Tokopedia ให้บริการในอินโดนีเซีย และ Sendo ให้บริการในเวียดนาม

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา (CLM) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก แม้ปัจจุบันจะมีอุปสรรคสำคัญ คือ ช่องทางการชำระเงินที่มีอย่างจำกัด เนื่องจากประชากรส่วนมากไม่สามารถชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือบัตรเครดิต ทำให้การเก็บเงินปลายทางได้รับความนิยมสูงสุด โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ ทำการขายผ่านรูปแบบไลฟ์สด ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาช่วยประชาสัมพันธ์

ในขณะที่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนภายในปี 2568 รองจากอินโดนีเซีย และไทย โดยมีแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมคล้ายคลึงกับไทย เช่น Shopee และ Lazada

การขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังส่งผลให้บริการสาขาอื่น ๆ ขยายตัว โดยเฉพาะธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้า การเก็บรักษาในคลังสินค้า การกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค และการจัดเก็บเงินปลายทาง โดยการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV จะใช้ถนนเป็นช่องทางการขนส่งหลัก

อย่างไรก็ตาม ถนนหลายเส้นทางมีสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกได้ เป็นอุปสรรคในการขนส่งสินค้าตามเวลาที่กำหนด และทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง

ในปัจจุบันหลายประเทศมีโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น สปป.ลาว อยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับจีน ควบคู่กับการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเวียงจันทน์ กัมพูชามีการจัดทำแผนแม่บทโลจิสติกส์ในระดับชาติ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในอนุภูมิภาค โดยการปรับปรุงเส้นทางถนนที่มีอยู่ และก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือกับจังหวัดต่าง ๆ

จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปข้างต้น ทำให้ตลาดการค้าขายออนไลน์ของไทย ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 8 ของการค้าปลีกทั้งหมด ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะการขยายเข้าสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในเพื่อนบ้าน CLMV เช่น สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า หมวก กระเป๋า) เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เครื่องดื่มและอาหาร โดยเฉพาะอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น

ประกอบกับโครงข่ายคมนาคมของไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ทั้งช่องทางถนน รถไฟ และเครื่องบิน จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

กัมพูชา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในกัมพูชายังคงมีปริมาณไม่มากนัก โดยมีการซื้อของและชำระสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่ร้อยละ 5.8 จากจำนวนประชากรทั้งหมด และการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากอุปสรรคด้านช่องทางการชำระเงินที่มีจำกัด โดยผู้ซื้อสินค้าส่วนมากนิยมชำระเงินโดยวิธีการเก็เงินสดปลายทาง

แต่ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการพัฒนาระบบชำระเงินในรูปแบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) อย่างไรก็ตาม การใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ส่วนมากเป็นการใช้ซื้อบัตรเติมเงิน และชำระค่าบริการต่าง ๆ โดยเป็นการชำระเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์เพียงร้อยละ 1

อย่างไรก็ดี กัมพูชาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพตลาดหนึ่งสำหรับธุรกิจบริการดิจิทัล เป็นโอกาสของนักออกแบบและนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นมือถือ เว็บไซต์ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ขณะที่บริการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในกัมพูชาก็มีความน่าสนใจ สามารถใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าจากชายแดนไทยเข้าไปถึงทุกจังหวัดในกัมพูชาได้ภายใน 1 วัน

และที่สำคัญ กัมพูชาเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่เปิดกว้างธุรกิจเสรีให้ต่างชาติสามารถเข้าไปทำได้เกือบทุกชนิด เนื่องจากมีความต้องการการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย

ที่จะขยายการลงทุนไปกัมพูชามากขึ้น ในสาขาการผลิตสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดกัมพูชา และเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมทั้งยังสามารถเข้าไปลงทุนในห่วงโซ่อุปทานด้านโลจิสติกส์ของกัมพูชา เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้า ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าในเขตพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรม และบริการด้านโลจิสติกส์และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สปป.ลาว ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ สปป.ลาว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในกรุงเวียงจันทน์ ที่เคยชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์จากประเทศตน รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ (ปัจจุบันมีประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมด)

โดยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างไทย และ สปป.ลาว ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกัน คน สปป.ลาวสามารถเดินทางเข้ามาเลือกซื้อสินค้าในไทยได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม โอกาสสำหรับสินค้าไทยในตลาดออนไลน์ของ สปป.ลาวยังมีอยู่มาก เนื่องจากผู้บริโภคลาวนิยมสินค้าไทย ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากสื่อไทย ดารานักแสดง และบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงของไทย ทำให้สินค้าไทยเข้าถึงผู้บริโภคชาวลาวได้ง่ายขึ้น อีกทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลยังมีไม่มาก

จึงเป็นโอกาสให้ไทยเข้าไปเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของ สปป.ลาว สำหรับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการขนส่งไทยยังมีโอกาสในการขยายกิจการไปยัง สปป.ลาว ซึ่งยังขาดผู้ประกอบการที่มีความรู้ความชำนาญในด้านโลจิสติกส์

โดยมีข้อควรคำนึงคือ การจัดการด้านการขนส่งใน สปป.ลาว ยังขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานขับรถบรรทุก ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขานี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กฎระเบียบใน สปป.ลาวมีความไม่แน่นอน

และเปลี่ยนแปลงบ่อย ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามกฎระเบียบด้านการขนส่งอย่างสม่ำเสมอ