โควิดถล่มโรงไก่ฉุดราคาดิ่งเหว ฟาร์มแบกต้นทุนอาหารสัตว์ขาดทุนยับ

ไก่สด-ส่งออก

ฟาร์มไก่เนื้อโอดขาดทุน หลังโควิดถล่มโรงงานรายใหญ่ปิดระนาว เป็นเหตุให้ต้องแบกภาระอาหารสัตว์เลี้ยงรอเชือดดันต้นทุนผู้เลี้ยงพุ่ง กก.ละ 32 บาท ขายได้ กก.ละ 25 บาท ขาดทุน กก.ละ 7-10 บาท แถมไก่ไซซ์ใหญ่เกินส่งออกต้องหั่นชำแหละขายทุบราคาในประเทศแน่ คาดเลวร้ายไม่แพ้วิกฤตไข้หวัดนก เชียร์รัฐบิ๊กคลีนนิ่งประเทศ ตัดวงจรการระบาด

แหล่งข่าวจากวงการฟาร์มไก่เนื้อเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดไก่ถือว่าเป็นขาลง ภายหลังจากเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานไก่แปรรูปครบวงจรรายใหญ่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว เพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงงานตามแนวทางของภาครัฐ ซึ่งมีผลให้ต้องหยุดการผลิต รวมถึงการเชือดไก่

ซึ่งบางโรงงานมีฟาร์มของตัวเอง และมีการรับเชือดฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยด้วย ต้องปรับโยกการผลิตไปเชือดในโรงงานสาขาในจังหวัดอื่น แต่บางแห่งก็ไม่สามารถเชือดได้เลย เพราะไม่มีโรงงานในบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงและฟาร์มของโรงงานก็ต้องเลี้ยงไก่ต่อไปก่อนเพื่อรอให้กลับมาเปิดโรงงานปกติ จนเลยระยะเวลาการเชือดที่เหมาะสม

“ปีนี้ไก่สาหัสไม่น้อยไปกว่าปีที่โดนหวัดนก ตอนนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ คนเลี้ยงต้องเลี้ยงรอเชือด ทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงไก่เพื่อรอโรงเชือดและโรงงานแปรรูปกลับมาเปิดปกติ ซึ่งเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต้องให้ไก่กินทุกวัน ๆ จนตอนนี้ต้นทุนไก่อยู่ที่ 32 บาท แต่ขายได้แค่ กก.ละ 25 บาท ขาดทุนไปแล้ว กก.ละ 7-8 บาท สำหรับไก่เป็นไม่นับไก่ไข่”

และผลกระทบต่อมา คือ เมื่อเลี้ยงไก่รอเชือดเป็นเวลานานเกินไปก็ทำให้ขนาดไก่กลายเป็นไก่ขนาดใหญ่เกินกว่ามาตรฐานที่จะไปส่งออก ซึ่งปกติจะใช้เวลาเลี้ยง 40 วัน ขนาด 2.5-2.6 กก. แต่ตอนนี้ถ้าปิดโรงงานนานไปถึง 50 วัน น้ำหนักไก่จะขึ้นไปถึง 3-4 กก. เมื่อไก่ยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งราคาถูกลง เพราะต้องมาเชือดและชำแหละขายในประเทศแทน ซึ่งเมื่อทุกฟาร์มทำแบบนี้พร้อมกันก็จะทำให้ราคาไก่ชำแหละลดลงในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ปกติไทยจะมีการผลิตไก่สัปดาห์ละ 32-33 ล้านตัว

ผลต่อไปในอนาคต คือ ผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของฟาร์มลูกไก่ก็จะได้รับผลกระทบ เพราะตอนนี้ต้นทุนการผลิตลูกไก่ตัวละ 12 บาท แต่เริ่มขายได้ตัวละ 9 บาทแล้ว ซึ่งหากรายใหญ่มีโรงเพาะลูกไก่จำนวนมากก็จะกระทบมาก

“ที่ผ่านมาหลายโรงงาน เช่น ซีพีเอฟ ไทสัน กลับมาผลิตแล้ว แต่อาจจะยังไม่สามารถผลิตได้สูงเท่ากับช่วงปกติ ซึ่งตามวงรอบการเลี้ยงน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ยังมีโรงงานของเบทาโกรที่ปิดอยู่ 2 พื้นที่ คือ ลพบุรี และพัทลุง ตามข่าว”

“ซึ่งโดยปกติเท่าที่ทราบ ทางเบทาโกรผลิตไก่วันละ 5 แสนตัว ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ท็อป 5 ของไทยเลยก็ว่าได้ เขามีฟาร์ม ซึ่งการจะย้ายไก่ไปขอให้รายอื่นเชือดแทนก็อาจจะลำบาก เพราะแต่ละรายก็มีไก่ของตัวเองที่ต้องเชือดอยู่ระดับหนึ่งจะเลี้ยงต่อก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ตอนนี้สูงขึ้นมาก แต่รายนี้มีอาหารสัตว์ครบวงจร จะกระทบหรือไม่ มากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าจะคอนโทรลได้เมื่อไร”

อย่างไรก็ตาม มองว่าการปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาดเชื้อโควิด-19 ควรต้องยึดโมเดลการดำเนินการสมัยที่ไทยมีไข้หวัดนก ซึ่งทางผู้ประกอบการปศุสัตว์ของไทยมีความเชี่ยวชาญมาก เรื่องนี้หากใช้โมเดลเดียวกัน ควรจัด “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ประเทศ” ทุกพื้นที่ทุกจุดพร้อมกัน เป็นช่วงเวลาประมาณ 8 วงรอบการระบาด คือ ปิดทำความสะอาดทุกที่พร้อมกัน ในช่วงเวลาที่เชื้อโรคฟักตัว คือ ประมาณ 14 วัน น่าจะช่วยลดปัญหาเชื้อลงได้ครึ่งหนึ่ง เพราะหากจะรอให้ควบคุมการระบาดได้น่าจะใช้เวลานาน

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายในระบุว่า ขณะนี้ราคาเนื้อไก่ชำแหละ น่องและสะโพก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ยังทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา กก.ละ 64-65 บาท และยังปรับสูงขึ้นกว่าเดือนกรกฎาคม 2563 ที่อยู่ที่ กก.ละ 62-63 บาท