กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยผลสำรวจพบ 8 ปัญหาผู้ประกอบการ SMEs เจอในช่วงโควิด-19 ทั้งการตลาด แหล่งเงินทุน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม วัตถุดิบ เร่ง 5 แผนระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือใน 60 วัน หวังสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 8,000 ล้านบาท
วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ DIPROM เปิดเผยว่า จากการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,574 สถานประกอบการ พบว่ามี 8 ปัญหา ที่ผู้ประกอบการพบเจอ
คือ 1.ปัญหาด้านการตลาด 66.82% 2.ปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21.92% 3.ปัญหา
ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 13.74% 4.ปัญหาด้านวัตถุดิบและปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ 11.40% 5.ปัญหาด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต 11.28% 6.ปัญหาด้านการจัดการ เช่น การขนส่ง บุคลากร 9.50% 7.ปัญหาด้านต้นทุน 8.16% และ 8.ปัญหาด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 8.16%
ดังนั้น กรมจึงได้กำหนดแนวทางภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงาน โควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด” ในระยะเร่งด่วนช่วง 60 วัน ในปีงบประมาณ 2564 ดังนี้ 1.การจัดการโควิด-19 ภายในองค์กร เพื่อสร้างสถานประกอบการปลอดเชื้อ 2.การตลาดภายใต้โควิด โดยการสร้างช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ Social Commerce เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถเข้ามาซื้อ-ขายสินค้า ช่วยเหลือด้านการขนส่ง ด้วยการออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจใหม่ จะเป็นการลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ
“สำคัญ คือ แนวทางการตลาดร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยเตรียมความพร้อม SMEs และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองตราสินค้า Made in Thailand หรือ MiT โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านการเสริมสร้างการรับรู้และสร้างโอกาสการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย การรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย ส.อ.ท. การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และการขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ”
3.เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นเงินทุนในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ต้นทุนการขนส่งสินค้า ต้นทุนการบริหารจัดการ
4.สร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยจะเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูป เพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
5.ปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความพร้อม ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ
จากการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการ คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะสามารถช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จำนวนรวม 3,356 กิจการ 11,955 คน 982 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท