มนัญญาเร่งกระจายผลไม้ภาคใต้ ฝ่าวิกฤตโควิด

มังคุด

รมช.มนัญญา ปล่อยขบวนกระจายผลไม้ภาคใต้ บรรเทาความเดือดร้อนสมาชิกสหกรณ์ รถขนส่งสินค้าชุมนุมสหกรณ์ ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 เหตุล็อกดาวน์ผู้ซื้อไม่สามารถเข้าซื้อจากสวนได้

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงของผลไม้ ซึ่งออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ผลไม้ในภาคใต้และภาคเหนือมีปริมาณผลผลิตออกมาจำนวนมาก 3 ชนิดหลัก ได้แก่ เงาะ ปริมาณ 63,647 ตัน มังคุด ปริมาณ 173,116 ตัน และลำไย ปริมาณ 973,603 ตัน

ในปี 2564 นี้ ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยรวมทั้งเกษตรกรมีการกักเก็บน้ำในสระไว้สำหรับดูแลสวนมากขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการระบายผลไม้สู่ตลาด เนื่องจากขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การกระจายผลผลิตที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการส่งออกไปต่างประเทศและการจำหน่ายภายในประเทศ

ในปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ผ่านสถาบันเกษตรกร โดยได้รับงบประมาณ 45 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร โดยช่วยเหลือเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง และบรรจุภัณฑ์เพื่อเร่งรัดการกระจายผลิต

สำหรับปีนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ใช้กลไกสหกรณ์ในการเข้าช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการการแลกเปลี่ยนผลผลิตกันระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ เน้นข้าวสารแลกกับผลไม้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบเรื่องช่องทางการตลาดในขณะนี้ และ 2.การซื้อขายโดยตรงระหว่างสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับสหกรณ์ผู้บริโภคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นการกระจายผ่านเครือข่ายของศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ และสหกรณ์ขนาดใหญ่ระดับอำเภอ

ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนสินค้าข้าวและผลไม้ ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 11 สหกรณ์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณผลผลิต 854 ตัน มูลค่ากว่า 21,624,670 บาท ส่วนการซื้อขายโดยผ่านขบวนการสหกรณ์ดำเนินการแล้ว 35 แห่ง ปริมาณ 204 ตัน มูลค่ากว่า 7,049,954 บาท

สำหรับการกระจายผลผลิตเงาะจากภาคใต้ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ของภาคใต้ ซึ่งใช้ขบวนการสหกรณ์ เป็นกลไกในการกระจายเงาะ จากเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหยุดรับซื้อผลผลิตของพ่อค้าในพื้นที่ไปสู่ผู้บริโภครายย่อย ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

ซึ่งจะกระจายผลผลิตโดยมีชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายผลไม้สหกรณ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มต้นจำนวน 3 ตัน มูลค่ากว่า 100,000 บาท ซึ่งเงาะที่นำมาจำหน่ายครั้งนี้ ส่งตรงมาจากสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังมีรถแท็กซี่สหกรณ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด มาร่วมเป็นรถขนส่งผลไม้จากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ไปยังผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะกระจายผลผลิตมังคุด และลำไยต่อไปอีกด้วย

การดำเนินงานกระจายผลผลิตดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในขบวนการสหกรณ์ ที่เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของสมาชิกสหกรณ์ เมื่อสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ขบวนการสหกรณ์ก็เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิก ซึ่งอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายของสหกรณ์ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความสำคัญเรื่องมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และคุณภาพของผลผลิตทุกชนิดของสหกรณ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน สหกรณ์ต้องเรียนรู้ด้านการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง รวมถึงขบวนการโลจิสติกส์ซึ่งสำคัญอย่างมาก ต้องจัดส่งรวดเร็วให้ถึงมือผู้บริโภค เพื่อความสดใหม่เสมือนรับประทานในสวนผลไม้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดประสานเครือข่ายสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่ สั่งซื้อเงาะและมังคุดจากสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตในภาคใต้ กระจายสู่ผู้บริโภคของแต่ละจังหวัด

โดยให้สหกรณ์ต้นทาง 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา พัทลุง และยะลา เปิดจุดรวบรวมเงาะ มังคุด จากเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ เน้นผลไม้ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ก่อนนำมาคัดเกรดบรรจุลงกล่อง และเร่งจัดส่งให้สหกรณ์ที่เป็นตลาดปลายทางเพื่อให้ถึงผู้บริโภคโดยเร็ว พร้อมจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์วงเงิน 122 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมเป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในราคานำตลาด เพื่อดึงราคาผลไม้ในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่พี่น้องเกษตรกร