แหลมฉบังเฟส 3 ชงบอร์ด EEC รับทราบคืบหน้าสัญญาสัมปทาน

ท่าเรือ แหลมฉบังเฟส 3 ยังไม่ชงให้บอร์ด EEC อนุมัติ เตรียมเรียก GPC ถกตรวจร่างสัญญา ก่อนส่งอัยการเคาะ ก.ย.นี้

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (PTT TANK) และ บจ. ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง) เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก จะยังไม่ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบในการประชุมวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค. 64 ) แต่อย่างใด มีเพียงการรายงานความคืบหน้าของโครงการเท่านั้น

เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งกลับร่างสัญญาของโครงการกลับมาให้ กทท.และเอกชนคู่สัญญาแก้ไขและตรวจทานอีกครั้ง โดยอัยการสูงสุดเห็นว่า ในร่างสัญญาดังกล่าวยังมีข้อความกำกวมและวงเงินมูลค่าต่างจากที่กำหนดในสัญญายังคลาดเคลื่อนและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ จึงให้ทั้งสองฝ่ายไปหารือและปรับแก้สัญญาให้ถูกต้องก่อน และส่งกลับมาให้อัยการสูงสุดตรวจทานใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากครั้งนี้แก้ไขเรียบร้อยและอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญา ก็จะเสนอให้ กพอ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

ส่วนการพิจารณาซองข้อเสนอ ตอนนี้ถือว่าเสร็จสิ้นไปนานแล้ว โดยซองข้อเสนอซองที่ 5 (ข้อเสนออื่นที่เพิ่มเติมประสิทธิภาพโครงการ) ทางคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาและไม่รับซองข้อเสนอนี้ เพราะไม่มีประเด็นที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแต่อย่างใด

โดยคาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะนัดทางกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประชุมผ่านทางออนไลน์ เพื่อพิจารณาแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จ ก่อนจะส่งร่างสัญญากลับไปให้อัยการสูงสุดตรวจทาน ซึ่งน่าจะส่งร่างสัญญากลับไปได้ก็ประมาณเดือนกันยายน 2564 ส่วนจะเสนอ กพอ.และ ครม.เห็นชอบ รวมถึงการลงนามในสัญญานั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอให้อัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะกำหนดไทม์ไลน์ในระยะต่อไปของโครงการได้

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับ ระยะที่ 1 ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท