“ดร.ซุป-ศุภชัย”ชี้การค้าโลกเปลี่ยนขั้วอำนาจ จีน-เอเชียผงาดนำสหรัฐ เเนะWTOช่วยกำกับอีคอมเมิร์ซ

“ดร.ซุป-ศุภชัย”ชี้การค้าโลกเปลี่ยนขั้วอำนาจ จีน-เอเชีย ผงาดนำสหรัฐ ส่วนยุโรปต้องทำตัวไม่เป็นภาระโลก เเนะ WTO ช่วยกำกับอีคอมเมิร์ซ ย้ำข้อมูล 7 ปี ที่ผ่านมา การค้าโลกถดถอย “การลงทุนอย่างเท่าเทียม ไม่เคยเกิดขึ้นจริง”

วันที่ 19 ก.ค. 2560 เวลา 09.40 น. ผู้สื่อข่าว  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ทางการค้า และการพัฒนาในยุคที่เกิดการก่อตัวขึ้นของการป้องกันและประชานิยม” ในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์

ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ระหว่างชุมทางสำคัญ ที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และการค้าที่ยั่งยืน โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาระบบการค้าเสรีส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ความได้เปรียบของสหรัฐไม่มีอีกต่อไปแล้ว เมื่อผลิตภาพเพิ่มขึ้น พร้อมกับแรงงานที่สูญเสียอันเนื่องมาจากการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ดังนั้นการเปิดการค้าเสรีจึงต้องคิดทบทวนหลายรอบ เพราะจะไม่ได้มีผลที่ตามมาตามที่เราตั้งไว้อีกต่อไป จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนทวิภาคีของชาติต่างๆ ของโลก ต่างก็หลีกเลี่ยงการว่างงาน จึงมาถึงจุดที่ว่าทำอย่างไรที่จะปรับตัวไปกับโลก แต่ไม่ใช่ก้าวสู่ยุคใหม่ทันที และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาความสมดุล

ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่เศรษฐกิจในโลกตะวันตกถดถอยลง การผงาดมาของเอเชีย กลายเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง ทั้งเป็นแหล่งผู้บริโภคและเป็นแหล่งส่งออกสินค้าราคาต่ำไปขายทั่วโลก เมื่อการบริโภคเปลี่ยนมีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโลกไร้ระบบได้ตกไปอยู่ในอุ้งมือของหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่ง

เขากล่าวต่อว่า ฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย จำเป็นต้องร่วมมือกัน เมื่อโลกไม่ใช่ยุคโลกาภิวัตน์แบบเก่า มีการขยับไปข้างหน้าและย้อนกลับมาข้างหลัง และจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องการค้าเสรี การลงทุน และแรงงานในยุคดิจิทัล และภาวะเศรษฐกิจ “นิว นอร์มอล” จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องพูดคุยกันให้แน่ชัด

ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำนายว่าการค้าโลกจะเป็นอย่างไร ผลออกมาว่าแทนที่จะก้าวหน้ากลับถอยหลัง ผู้นำโลกทั้งหลายต้องตระหนักว่า “การลงทุนอย่างเท่าเทียม ไม่เคยเกิดขึ้นจริง” แม้กระทั่งขณะนี้เราก็ไม่รู้ว่าเงินสดได้กระจายอยู่ทั่วโลกเท่าไหร่ และไม่รู้ว่าไปที่ไหน ซึ่งบางครั้งก็สร้างผลดีและบางครั้งก็สร้างปัญหาที่นำมาสู่การรับภาระวิกฤตเศรษฐกิจ

การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ ดำเนินต่อเนื่อง ลดต่ำกว่าที่คาด ในขณะที่ธนาคารกลางของชาติต่างๆมีการคำนึงคำนึงถึงสภาวะค่าครองชีพของคนยากจนหรือไม่ อำนาจของเงินเป็นอย่างไร แม้ภาวะเงินเฟ้อยังไม่สูง ไม่น่ามีผลกระทบมาก การผันผวนไม่เยอะ แต่ต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรรัฐจะวางนโยบายที่ “ง่าย” กว่านี้

“สหรัฐไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกอีกต่อไป เศรษฐกิจจีนสามารถเอามาเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้ และยุโรปเองก็ต้องทำตัวไม่ให้เป็นภาระของโลก เพราะถ้าคุณไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะเป็นภาระของโลก ทั้งเงินยูโรไม่แข็งแรง ไม่สามารถสร้างหลักประกันได้ว่า เงินยูโรจะมั่นคงต่อไปได้ และจะต้องมีการเจรจาคุยกันเรื่องนี้”

อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก ระบุว่า สถานการณ์ในยุโรป การเจรจาแยกตัวของอังกฤษ หรือ “เบร็กซิต” นั้น ก็ไม่ได้เป็นผลดีอะไรต่ออียู ทั้งนี้ ต้องจับตาว่าจะมีการกลับมาค้าขายกับเอเชียมากขึ้นหรือไม่ จึงจำเป็นต้องจัดระบบตนเอง อย่าสร้างผลกระทบต่อคนอื่น ในส่วนของเยอรมนีเช่นกันเดียว เมื่อยุโรปเข้าสู่การมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ต้องดูทั่วโลกว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ระบบธนาคารโลกกำลังมีปัญหา โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ๆระดับโลก มีการไม่ชำระหนี้มากมาย อีกทั้งการแทรกแซงค่าเงิน ทาง WTO ก็ไม่สามารถทำไรได้

ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอน ไม่เหมือนตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ตอนนี้มีการเปลี่ยนมหาอำนาจไปสู่ซักโลกหนึ่ง ตะวันตกมาออก จากเหนือมาใต้ เป็นยุคการเปลี่ยนปลี่ยนแปลงด้านการขนส่ง การสื่อสารที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั่วโลก ไม่เหมือนยุค 20 ปีที่ผ่านมา ทำอย่างไรจะทำให้โลกาภิวัตน์ จึงจะต้องไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของลัทธิการลงทุน และไม่เปลี่ยนจากตะวันตกมาตะวันออกเพียงอย่างเดียว

“ผู้นำโลกตอนนี้คิดแต่ว่า เราต้องได้ก่อน แต่ไปพูดสวยในเวทีโลก แล้วพอกลับมาประเทศตนเองก็พูดคนละแบบ และไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในระดับโลก เหมือนพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจแต่กลับเอาจีน ซึ่งเป็นมีอิทธิพลอย่างมากไปไว้ข้างนอก”เขากล่าว

นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญ คือความเคลื่อนไหวที่จะออกไปสร้างพื้นที่นอกการค้าทวิภาคี การรวมตัวกันกลุ่มใหญ่เป็นสิ่งที่จะสร้างประโยชน์ได้มากกว่า เช่นนโยบาย One Belt, One Road

“เศรษฐกิจบูรณาการแบบใหม่ จะไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรีแล้ว แต่เราต้องมีหุ้นส่วน เป็น partnership ให้แก่กัน หากอาเซียนจะร่วมมือกันก็ต้องเป็นรูปแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งการเงินการค้าและพลังงาน อีกทั้งต้องมองทางด้านสังคม การเมือง การศึกษาเป็นอย่างไร และมีการประชุมกันเพื่อสร้างสถานะของการประสานงานใหม่”

การเชื่อมโยงจะต้องจัดระบบแบบใหม่ โดยเฉพาะความเท่าเทียมกันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีทั้งไฟแนนซ์ โลจิสติกส์ Internet of Things และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งการหมดไปของบริษัทแบบเก่า และเกิดบริษัทแบบใหม่ที่มีอิทธิพลอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิลและอาลีบาบานั้นจะมีการทำลายล้างมากกว่าที่คิด จะเกิดภาวะโกลาหล เพราะเป็นภาวการณ์ในการปรับระบบ จึงต้องหาทางจัดระบบร่วมกันให้เกิดความสมดุล โดย WTO ควรช่วยกำกับดูเเล เเต่ไม่ใช่การควบคุม