เปิดโผ “สินค้าส่งออกดาวร่วง” ครึ่งปีแรกพลิกติดลบ

ส่งออกอาหาร

ครึ่งปีแรก 4 สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตรดาวร่วง พลิกโผส่งออกติดลบสวนทางประเทศ “ส.ทูน่า” ชี้โควิดสหรัฐ-อียูคลี่คลายฉุดส่งออก ด้าน “ส.ข้าว” ย้ำปัจจัยลบคอนเทนเนอร์ขาด-ค่าระวางแพงหลอนไทยไม่เลิก ด้านส.ผู้เลี้ยงสุกร ชี้โควิดฉุดตลาดลดบริโภค-นำเข้าหมู

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า แม้ว่าภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2564 ขยายตัวถึง 15.5% มูลค่า 132,335 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมีมูลค่า 22,425 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.9% ก็จริง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไส้ในยังมีสินค้า 4 รายการที่ส่งออกติดลบสวนทางภาพรวม คือ กลุ่มข้าวลดลง 30.9% ทูน่ากระป๋อง ลดลง 24.4% น้ำตาล ลดลง 38.2% และสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ลดลง 11% (ตามกราฟิก)

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายส่งผลให้ยอดการส่งออกทูน่ากระป๋องครึ่งปีแรกลดลง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสินค้านี้ ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ออกไปรับประทานอาหารข้างนอกบ้าน จึงทำให้ความต้องการในสินค้าลดลง

ประกอบกับโรงงานในไทยเองก็ลดกำลังผลิตลงกว่า 10-15% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งขาดแคลนแรงงานต่างด้าวทั้งเมียนมาและคนไทยที่ต้องเป็นไปตามมาตรการภาครัฐให้มีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนคนงานในโรงงานเพื่อความปลอดภัย

แต่ในทางกลับกันส่วนของทูน่าเพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารแมว และอาหารสุนัขกลับได้รับความนิยม มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงถือว่ายอดรวมพอได้และไม่ห่างมาก ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าปีนี้ประเมินการส่งออกอาจต้องปรับเป้าหมายลง 10% แต่ในส่วนของทูน่าอาหารสัตว์เลี้ยงปรับเป้าเพิ่มขึ้น 10%

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากผลผลิตข้าวของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นจากฝนตก น้ำดี ประกอบกับราคาข้าวไทยแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังมีปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนค่ามาหนุน ส่งผลให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยข้าวขาว 5% ของไทย ตันละ 402 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่ของเวียดนาม ตันละ 388-392 เหรียญสหรัฐต่อตัน อินเดีย ตันละ 382-387 เหรียญสหรัฐ และปากีสถาน ตันละ 378-382 เหรียญสหรัฐ ส่วนราคาข้าวนึ่งของไทย ตันละ 415 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวนึ่งอินเดีย ตันละ 353-357 เหรียญสหรัฐ และปากีสถาน ตันละ 396-400 เหรียญสหรัฐต่อตัน

“แม้ราคาข้าวไทยจะแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ไทยยังติดปัญหาเรื่องของการขนส่ง ค่าระวางที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีไม่เพียงพอในกลุ่มผู้ส่งออกข้าว ปัญหาขาดแรงงานที่หายออกจากระบบ จากปัญหาโควิด และยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในครึ่งปีหลังได้”

“โดยเฉพาะค่าระวางเรือเส้นทางสหรัฐปรับขึ้นกว่า 6 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 15,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 20 ฟุต นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยน่ากังวลในตลาดข้าวหอมมะลิจากปัญหาค่าขนส่ง ทำให้สต๊อกข้าวหอมมะลิไทยยังคงมีเยอะ หากผลผลิตออกมาก็อาจจะกระทบได้ ซึ่งต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยจะต้องรอดูผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 นี้ หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นทางสมาคมก็จะลงพื้นที่ในการติดตามดูผลผลิตอีกครั้ง”

ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2564 น่าจะส่งออกได้มากกว่า 400,000 ตัน เพราะตลาดสำคัญในแถมแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย มีแนวโน้มจะนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งเนื่องจากราคาข้าวของไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก ประกอบกับความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้นเพราะอุปทานข้าวในประเทศมีน้อยลง

ซึ่งการทำตลาดสำคัญ เช่น โมซัมบิก อิรัก ญี่ปุ่น แคเมอรูน แองโกลา จีน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ยังสามารถทำได้ แต่ปริมาณการส่งออกไม่มากเพราะต้องยอมรับว่าชนิดข้าวของไทยยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งนิยมข้าวพื้นนุ่ม แต่ข้าวพื้นนุ่มของไทยยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ดังนั้นการทำตลาดส่งออกของไทยจึงยังอยู่ที่ข้าวนึ่ง ข้าวขาว 5% และข้าวหอมมะลิเท่านั้น

“ส่วนการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดอิรัก ปัจจุบันยังสามารถส่งออกไปได้ 10,000-20,000 ตัน เป็นการส่งออกผ่านเอกชนและประเทศข้างเคียงเพื่อส่งต่อเข้าอิรัก”

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกที่ปรับตัวลดลงเป็นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาดที่นำเข้าหมูจากไทย ซึ่งก็คล้ายกับตลาดในประเทศที่หดตัวลง

ซึ่งแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังจะดีขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้มากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ผู้เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะรายย่อยในประเทศเหลือ 30% ส่วนผลจากการแพร่ระบาดของโรคหมู หรือ PRRS ทางภาครัฐก็เตรียมพร้อมและมีการจัดอบรมให้กับเกษตรกร จึงยังไม่กระทบมากนัก

รายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ประมาณการต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาส 2 ปี 2564 ไว้ กก.ละ 76.72 บาท ภาวะราคาและปริมาณสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดตั้งแต่วันพระที่แล้ว ผู้เลี้ยงภาคบริษัท สมาคมภูมิภาคต่าง ๆ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และผู้เลี้ยงทั่วไป มีมติเห็นควรยืนราคาสุกรขุนต่อไปอีก 2-3 วันพระ

โดยเมื่อภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ทรงตัวแล้วจึงค่อยพิจารณาราคาว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรต่อไป ปริมาณสุกรขุนมีไม่มาก ตัวไม่ใหญ่สอดคล้องกับสภาพตลาดที่กระทบจากโควิดขณะนี้ เมื่อโควิด-19 ทรงตัวหรือผ่อนคลายลงตามปริมาณแม่พันธุ์ในขณะนี้ สุกรขุนจะขาดแคลน

ดังนั้น เห็นควรยืนราคาตามที่แต่ละภาคประกาศต่อไป โดยราคาสุกรภาคตะวันตก กก.ละ 68 บาท ภาคตะวันออก กก.ละ 74-78 บาท ภาคอีสาน กก.ละ 72 บาท ภาคเหนือ กก.ละ 76 บาท และภาคใต้ กก.ละ 73 บาท