เงินเฟ้อ ก.ค. 64 ขยายตัว 0.45% จับตาต่ออายุมาตรการ “ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ”

ค่าไฟ

เงินเฟ้อกรกฎาคม 2564 ขยายตัว 0.45% ผลจากมาตรการภาครัฐ การลดลงของอาหารสด พร้อมจับตาหลังมาตรการค่าน้ำ ค่าไฟของรัฐจะต่อหรือไม่หลังสิ้นสุดเดือนสิงหาคมนี้

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 99.81 ขยายตัว 0.45%  เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทั้งนี้ถือว่าเป็นการชะลอตัวลง 1.25% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล และการลดลงของราคาอาหารสดบางประเภทยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เงินเฟ้อเดือนนี้ที่ชะลอตัวลงยังเป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ 6.30% และการสูงขึ้นของอาหารสดบางประเภท อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่ และผลไม้สด ตามความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับเกิดโรคระบาดในสุกรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง นอกจากนี้ ไข่ไก่และผลไม้สด ฐานราคาของปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ ขณะที่มาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ในรอบเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 และการลด ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา

รวมทั้งการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.47% เช่น กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 5.61% เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว กลุ่มผักสด ลดลง 5.77% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.34% กลุ่มที่สูงขึ้น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 0.25% กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.47% หมวดสินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.06% เช่น หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.49% หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น 9.22% เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ลดลง 0.12% (MoM) และเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.83% (AoA)

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดค่าครองชีพผู้บริโภคของภาครัฐ ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในรอบเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 อีกทั้งราคาพลังงานที่ถึงแม้ จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากฐานราคาของปีก่อนเริ่มสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวน้อยลง สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง น่าจะสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ คือที่ 1.0-3.0%

“ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเชื่อว่าทั้งปีไม่น่าโตเกิน 1.7% เพราะอย่างไรก็ต้องติดตามมาตรการของภาครัฐ โดยเชื่อว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% ส่วนไตรมาส 3-4 หากไม่มีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1-1.9% แต่หากมีมาตรการช่วยเหลือเชื่อว่าเงินเฟ้อจะลดลง”

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7-1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น 223 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช ไข่ไก่ เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ไก่ย่าง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน และทุเรียน สินค้าที่ปรับตัวลดลง 137 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า หัวหอมแดง พริกสด ฟักทอง มะเขือเทศ กะหล่ำปลี สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 70 รายการ