ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังวัคซีนโควิดพลาดเป้า

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 22 ปี กำลังซื้อหด หลังวัคซีนยังไม่ได้ฉีดครบตามกำหนด รอความหวังสถานการณ์คลี่คลาย ก.ย.นี้

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 40.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้า เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือน หรือ 22 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา 

เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัดโดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. เพื่อควบคุมการระบาด จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 35.3 38.0 และ 49.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 37.3 40.0 และ 52.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก

เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิดรอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 4 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่า จะส่งผละกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้

อย่างไรก็ตามต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม เป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้รวดเร็วเพียงไร รัฐบาลจะมีการประกาศ Lockdown เพิ่มเติมหรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0 ถึง -2% ได้

ในกรณีที่คุมควบสถานการณ์ได้ในเดือนกันยายน และภาครัฐมีการเร่งอัดฉีดเงินผ่านมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี GDP อาจขยายตัวเป็นบวก 1%

พร้อมกันนี้ เสนอว่า ควรขยายขยายเพดานเงินกู้เพิ่มจาก 60% ของ GDP เป็น 65-70% ของ GDP หากต้องขยายวงเงินกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 20.7 ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 22.5 และเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 31 เดือน โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการออกมาตรการเร่งด่วนขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาด

ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐต้องเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการผลิตได้ เพื่อให้การส่งออกไม่สะดุด โดยการฉีดวัคซีนให้กับแรงงาน ในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อหวังว่าให้สถานการณ์คลี่คลายในต้นเดือนกันยายน