ยืนเป้าจีดีพีเกษตรโต 2.7% “รง.ไก่” ลุย Bubble and Seal โกย 5.6 หมื่นล้าน

สศก.คาดจีดีพีเกษตรทั้งปี’64 โตสูงสุด 2.7% ชี้ส่งออกสินค้าเกษตรไทยครึ่งปีแรกพุ่ง 7.16 แสนล้าน ปศุสัตว์เผยไก่ไทยเติบโตดี จากมาตรการคุมเข้ม Bubble and Seal คาดทั้งปีส่งออก 504,754 ตัน มูลค่า 56,000 ล้านบาท  ยังขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 เทียบกับปี 2563

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 ถือว่ารุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง หรือขยายตัวเพียง 0.7% จาก 3% ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี 2564 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2/2564 สศก.มีการขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ติดลบ 3.1% โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งปี 2564 สศก.คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7-2.7% ตามเดิมที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ แม้โควิด-19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงนับเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 หรือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.1% สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม  ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู)

อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ โดยผลกระทบที่ได้รับมีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง เพราะมาตรการที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การล็อกดาวน์ และการควบคุมพื้นที่ การจำกัดเปิดร้านค้า และร้านอาหารต่าง ๆ โดยผลวิเคราะห์พบว่า กรณีโควิด-19 กระทบ 5 เดือน หรือระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม 2564 มูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ จะลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท

โดยเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก กรณี 5 เดือน  พบว่า สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าวมากที่สุด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ ซึ่งในสถานการณ์โรคโควิดระบาดนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลการผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดส่งออกเนื้อไก่ครึ่งปี2564เพิ่มขึ้นจำนวน 5 แสนตัน มูลค่า 56,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 และ 0.9 ตามลำดับ

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิดไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย มาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงานมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหารต้องมีการเฝ้าระวังสุขภาพและผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต 3) ด้านสินค้า มีการตรวจสอบประสิทธิภาพ

“โรงงานที่พนักงานตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดอาจได้รับผลกระทบเนื่องจากถูกสั่งปิด และขาดแรงงาน ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อาจได้รับผลกระทบจากการรอนำไก่เข้าเชือด ซึ่งโรงงานในบางจังหวัดถูกสั่งปิดเป็นเวลาสั้น ๆ 5-7 วัน แต่บางจังหวัดอาจถูกสั่งปิด 14 วัน ไก่จะมีน้ำหนักมากและถูกกดราคา สำหรับการส่งออกยังไม่มีหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้า ของต่างประเทศได้แสดงความกังวลมาแต่อย่างใด  ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีน”

ทั้งนี้ หากพบว่าโรงงานใดที่ตรวจพบคนงานติดเชื้อ กรมปศุสัตว์ต้องชะลอการส่งออกชั่วคราวตามข้อกำหนดจีน ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิดในภาพรวมได้ พนักงานหายป่วยกลับมาทำงาน

รวมถึงการมีแรงงานเข้ามาชดเชย ก็มั่นใจว่า ปัจจุบันในปี 2564 สินค้าเนื้อไก่มีปริมาณการส่งออกมีจำนวน 504,754 ตัน มูลค่า 56,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดส่งออกเนื้อไก่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2-3 เทียบกับปี 2563 หรือที่ปริมาณ 1,219,909 ตัน มูลค่า 141,786 ล้านบาทอย่างแน่นอน