ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯร่วงต่อเนื่อง กกร.จี้พบ “ประยุทธ์” เปิดทางเคลียร์ปัญหาวัคซีน

ฉีดวัคซีน

“สุพันธุ์” เผย กกร.เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯประยุทธ์ เคลียร์ปัญหาวัคซีนโควิด-19 ไม่ถึงแรงงานภาคอุตสาหกรรม ทำดัชนีความเชื่อมั่นร่วงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 พร้อมจี้เปิดทางให้เอกชนผลิต “ฟาวิพิราเวียร์” ก่อนขาดแคลนทำราคาพุ่ง

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภายในวันนี้ (10 ส.ค.) คาดว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมที่จะนำหนังสือเพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง เพื่อเสนอแนวทางที่ภาคเอกชนต้องการเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ การจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม และต้องเปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้การติดเชื้อในโรงงานเริ่มมีจำนวนมาก ตัวเลขล่าสุดประมาณ 1,000 โรงงาน

ขณะเดียวกันต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับเอกชนในเรื่องของการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ป้องกันการดูแลการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งเป็นภาระรายจ่ายของภาคเอกชนในขณะนี้ และขอให้รัฐพิจารณาอนุมัติให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เพื่อผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถปลดล็อกตรงนี้ได้ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

“ตอนนี้ผู้ผลิตยาในประเทศเขาทำได้ แต่รัฐไม่ได้เปิดทางให้จึงมีแต่นำเข้ามา และในอนาคตหากไทยเกิดขาดแคลนฟาวิพิราเวียร์จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่เพียงเท่านั้นยาก็จะมีราคาแพงขึ้นไปอีก”

นายสุพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวิกฤตโควิด-19 ในตอนนี้ตึงทำให้มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 78.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน 2564 โดยค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ

ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด ออกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 21.00-04.00 น.ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-2 ส.ค. 2564  การจำกัดการเดินทางภายในประเทศ

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และยังส่งผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs และประชาชนมีรายได้ลดลง

ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทำให้กำลังการผลิตลดลง เนื่องจากแรงงานต้องกักตัวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งโรงงานบางแห่งต้องปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด นอกจากนี้ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย


สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 89.3 จากระดับ 90.8 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก