“สุพัฒนพงษ์” เผยมาตรการพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีแรกกว่า 1 แสนล้าน

“สุพัฒนพงษ์” เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยดันการลงทุน จ้างงาน แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 เยียวยาภาคพลังงาน ทั้งมาตรการลดค่าครองชีพ หนุนสาธารณสุข  เผยเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจพลังงานครึ่งปีแรก 64 กว่า 1 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานรวมกว่า 36,000 ตำแหน่ง

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ รัฐบาลได้ร่วมบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ดังกล่าว และเยียวยาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ความร่วมมือ “พลังงาน พลังใจ ขับเคลื่อนไทยให้ยั่งยืน” ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดและรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานมาอย่างต่อเนื่องเต็มกำลัง

โดยในมิติด้านเศรษฐกิจ ได้มีการผลักดันให้เกิดการลงทุนตามแผนการลงทุนปี 2564 กว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินไปข้างหน้า โดยในครึ่งปีแรกของปี 2564 (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564) มีเม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของ กระทรวงพลังงาน คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งบริษัทในเครือ  โดยในส่วนของ ปตท. มีโครงการลงทุนที่สำคัญ

อาทิ โครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งใหม่ จังหวัดระยอง โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากสถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติ ราชบุรี – วังน้อยที่ 6 การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ขณะที่โครงการสำคัญในส่วนของ กฟผ. อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่อง1-2) โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพฯ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า เป็นต้น 


นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก กระทรวงพลังงาน โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังสามารถจัดเก็บรายได้จากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กว่า 25,000 ล้านบาท นำส่งรัฐ  ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาประเทศในช่วงเวลาวิกฤตินี้

โดยในมิติด้านสังคมได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการเยียวยาอย่างรอบด้านทั้ง มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านค่าใช้จ่ายพลังงาน ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคมและเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา และมีการลดค่าไฟฟ้าเพิ่มในรอบเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม หลังจากที่ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการด้านการจ้างงานสร้างอาชีพ โดยผลักดันให้เกิดการจ้างงานไปแล้วกว่า 36,000 ตำแหน่ง และยังจะมีการจ้างเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 อีก 2,300 ตำแหน่ง ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้เดินหน้านโยบายพลังงานที่มุ่งเน้นเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศใน 4 แผนด้านพลังงานหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่

(1) แผนพลังงานชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในโครงการพลังงานสีเขียวรองรับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี

(2) แผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก

(3) แผนการพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 ซึ่งจะมุ่งสนับสนุนให้มีการขยายเพิ่มเติมจากโครงการเดิมในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) และ 

(4) แผนการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำร่องจำนวน 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจกระจายลงสู่ในระดับรากหญ้าให้มากยิ่งขึ้น

“กระทรวงพลังงาน ยังคงเร่งดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังคงระบาดอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการช่วยเหลือและเยียวยาคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตและก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว