ธพ.จี้รง.เอทานอล “ลดราคา” ดึงการใช้เพิ่มแก้ล้นระบบ

ธพ.ตอกกลับโรงงานเอทานอล เร่งขยายโรงงานแข่งกันเองจนล้นระบบ ยันตามแผน AEDP ระบุชัดเจนความต้องการใช้ในปี”60 แค่ 4 ล้านลิตร/วัน ย้อนถามโรงงานเอทานอลช่วย “ลดราคา” เอทานอลเพื่อถ่างส่วนต่างราคาถูกลงอีกหรือไม่ หวังกระตุ้นการใช้เพิ่ม ด้าน สนพ.อยู่ระหว่างคุ้ยต้นทุนราคาเหมาะสมหรือไม่

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ผู้ผลิตเอทานอลได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขสถานการณ์การผลิตเอทานอลที่ล้นระบบอยู่เกือบ 2 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากมีโรงงานใหม่รวมกับโรงงานเดิมผลิตเข้าระบบสูงถึง 5.8 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลมีแค่ 4 ล้านลิตร/วัน กรมธุรกิจพลังงานขอชี้แจงว่า อุตสาหกรรมเอทานอลเป็น “ตลาดเสรี” การตัดสินใจว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเอง

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2560 จะมีความต้องการใช้อยู่ที่ไม่เกิน 4 ล้านลิตร/วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถส่งออกเอทานอลได้ ส่วนการอ้างว่าราคาไม่สามารถแข่งขันได้นั้น ก็ควร “ลดราคา” เพราะปัจจุบันราคาเอทานอลที่ผลิตในประเทศถือว่าค่อนข้างสูงที่ 24-25 บาท/ลิตร ทั้งที่ราคาวัตถุดิบทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลังไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นเอทานอล หรือไบโอดีเซล มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงชดเชยราคาให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E20) มากกว่า 3 บาท/ลิตร เพื่อให้มีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E10) หวังจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเติม แต่ความต้องการใช้ก็ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วและยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ สำหรับการยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ไม่มีการพิจารณาแน่นอน เพราะต้องการให้ผู้บริโภคเป็นตัวตัดสินมากกว่าว่าต้องการใช้น้ำมันประเภทใด

“ไม่รู้ว่าจะแข่งกันตั้งโรงงานเอทานอลทำไม ในเมื่อดีมานด์มันจำกัด แต่แปลกซัพพลายล้น แต่ราคาเอทานอลไม่เคยลดลง ตอนราคาน้ำมันแพง ๆ โรงงานเอทานอลก็ฟันกำไรไปมากมายก็ไม่เห็นจะบ่นอะไรกัน การส่งเสริมเอทานอลของ ก.พลังงาน เราก็ทำมาตลอด แต่ครั้งนี้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการเอง ก็ต้องแก้ไขกันเอง”

นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้กรมธุรกิจฯมีแนวคิดว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นตามที่ผู้ผลิตเอทานอลต้องการนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้ผลิตเองจะ “ปรับลด” ราคาเอทานอลลงมา เพื่อเพิ่มส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ (E20) ให้มีราคาถูกลงไปอีก ซึ่งเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นได้แน่นอน และทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคาเอทานอลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ หากใช้กากน้ำตาล (โมลาส) เป็นวัตถุดิบ มีราคาอยู่ที่ 24 บาท/ลิตร ส่วนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ มีราคาอยู่ที่ 25 บาท/ลิตรนั้น เป็นการกำหนดราคาที่เหมาะสมหรือไม่ โดยขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างราคาเอทานอลและไบโอดีเซล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ วางเป้าหมายของการใช้พลังงานทดแทนในปี 2579 จะมีความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 11.30 ล้านลิตร/วัน ส่วนความต้องการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 14 ล้านลิตร/วัน รวมถึงยังระบุศักยภาพการผลิตเอทานอลในปี 2560 อยู่ที่ 4.35 ล้านลิตร/วัน ส่วนในปี 2562 อยู่ที่ 5.09 ล้านลิตร/วัน และในปี 2569 จะผลิตอยู่ที่ 7.38 ล้านลิตร/วัน