แหลมฉบังฟุ้ง ปี”60 กำไร 5,000 ล้าน ตั้งเป้ารุกธุรกิจขนถ่ายตู้สินค้า

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 ระหว่างเดือน ต.ค. 2559-ก.ย. 2560 ท่าเรือแหลมฉบังมีกำไรกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีรายได้ 7,000 ล้านบาท ส่วนปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 8.7% เป็น 7.677 ล้าน ที.อี.ยู. สูงกว่าคาดการณ์ซึ่งอยู่ที่ 7.5 ล้านที.อี.ยู. เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งให้ปริมาณตู้ส่งออกสินค้าสูงกว่าคาดการณ์ และการผลักดันธุรกิจขนถ่ายตู้สินค้าจากเรือใหญ่ (Transshipment) ซึ่งสร้างรายได้จากการเคลื่อนย้ายและยกตู้สินค้าในท่าเรือ โดยปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีการขนถ่ายตู้สินค้าประเภทนี้จำนวน 1 แสน ที.อี.ยู. สร้างรายได้ 5,000-10,000 บาทต่อตู้

ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเดินหน้าแก้ไขอุปสรรคเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการมาเปลี่ยนขนถ่ายตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบังมากขึ้น เช่น การอำนวยความสะดวกด้านเอกสาร ข้อกำหนดด้านความยาวเรือ การแก้ไขหรือผ่อนคลายกฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เริ่มหารือกับกรมศุลกากร และจะมีการตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

“ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการขนถ่ายเป็น 2-3 แสน ที.อี.ยู ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า แต่ถ้าแก้กฎหมายได้เร็ว ก็อาจจะถึงเป้าหมายเร็วกว่านั้น เพราะทุกวันนี้มีความต้องการมาก แต่เขาเลือกไปถ่ายลำที่ประเทศอื่น” ร.ต.ต.มนตรีกล่าว

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 คาดว่าปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังจะเพิ่มขึ้นอีก 7-8% หรือ 5-6 แสน ที.อี.ยู แต่ถ้าการขนถ่ายเติบโตเป็น 1.5 แสนที.อี.ยู ก็จะส่งให้ปริมาณตู้สินค้าในภาพรวมเติบโตได้มากกว่า 6 แสน ที.อี.ยู.

นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังหลายโครงการจะแล้วเสร็จในปีหน้า เช่น โครงการพัฒนาท่าเทียบท่าเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) วงเงิน 1.8 พันล้านบาท, โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 1 (SRTO) วงเงิน 2 พันล้านบาท, การขยายถนนภายในและทางเข้าออก, โครงการขยายสถานีจ่ายไฟ 1.5 kV ด้านการลงทุนปี 2561 มีเพียงการขยายสถานีไฟฟ้า 22 kV วงเงิน 70-80 ล้านบาท เพราะการลงทุนส่วนใหญ่ดำเนินการไปหมดแล้ว

ร.ต.ต.มนตรี กล่าวต่อว่า บริษัท ฮัทชิสัน จะลงทุนเปิดหน้าท่าเรือแหลมฉบังเฟส 2 อีก 400 เมตรในปีหน้า ซึ่งทำให้ขีดความสามารถในการรับสินค้าของเฟส 2 เพิ่มจาก 3.4 ล้านที.อี.ยู. ต่อปี เป็น 4 ล้านที.อี.ยู โดยปัจจุบันเฟสที่ 2 มีปริมาณการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 70% ของความสามารถในการรองรับ
ถ้าหากเอกชนลงทุนขยายท่าเรืออีกก็จะทำให้เฟส 2 รองรับสินค้าได้ถึงปี 2567 ซึ่งเฟสที่ 3 แล้วเสร็จ แต่หากธุรกิจขนถ่ายตู้สินค้าเติบโตอย่างรวดเร็วก็อาจต้องเร่งการพัฒนาแหลมฉบังเฟสที่ 3 ให้เร็วขึ้น ด้านท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 1 มีความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 4.3 ล้านที.อี.ยู แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้เกินความสามารถในการรองรับไปแล้ว

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์