ครึ่งปีแรกไทยใช้สิทธิ FTA-GSP ส่งออกขยายตัวเพิ่ม 34% ทะลุ 4 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ เผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ครึ่งปีแรก ขยายตัวเพิ่ม 34% มูลค่า 40,244.26 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 8,380.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.61% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีมูลค่า 7,576.68 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 40,244.26 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 78.07% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 38,329.42 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 34.34%

กีรติ รัชโน

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) เดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 8,057.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.07 % เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ 7,189.66 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ FTA 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 38,329.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 34.27% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 79.05%

โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน มูลค่า 13,439.89 ล้านเหรียญสหรัฐ 2) จีน มูลค่า 12,734.82 ล้านเหรียญสหรัฐ 3) ออสเตรเลีย มูลค่า 4,270.36 ล้านเหรียญสหรัฐ 4) ญี่ปุ่น มูลค่า 3,485.86 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5) อินเดีย มูลค่า 2,336.85 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู 100% 2) อาเซียน-จีน 96.58% 3) ไทย-ชิลี 86.80% 4) ไทย-ญี่ปุ่น 80.04% และ 5) อาเซียน-เกาหลี 69.43%

ทั้งนี้การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ เดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 323.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.41% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีมูลค่า 387.02 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิ ภายใต้ GSP 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.63% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 62.61%

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิ 1,705.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 44.59% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 65.15% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 132.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.19% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 40.01% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิ 68.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.35% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 71.73 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 7.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.84% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.97%

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง น้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ซอส เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด

สำหรับครึ่งแรกปี 2564 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อส่งออกภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการส่งออก อาทิ อาเซียน เพิ่มขึ้น 41.61% เปรู เพิ่มขึ้น 126.19% ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 45.37% ชิลี เพิ่มขึ้น 32.28% จีน เพิ่มขึ้น 33.10% อินเดีย เพิ่มขึ้น 48.55% เป็นต้น

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร/เครื่องดื่ม และเกษตร อาทิ เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน) รถยนต์ขนส่งบุคคลที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 1,000-1,500 ลบ.ซม. (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) ลวดทองแดงอื่น (อาเซียน-อินเดีย) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ยางธรรมชาติ (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย (ไทย-เปรู) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทร สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชั่นชื่อบัญชี “@gsp_helper”