กรมการค้าภายในเตรียมชงประชุม กกร.เห็นชอบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการสินค้าเกษตร 3 รายการ

กรมการค้าภายในเตรียมชงประชุม กกร.เห็นชอบขึ้นทะเบียนให้ผู้ประกอบการสินค้าเกษตร 3 รายการ หวังดูแลราคาสินค้าทั้งระบบ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรสำคัญ 3 รายการสำคัญ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพด ว่า ภายในเดือนส.ค.นี้กรมจะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ออกประกาศให้ผู้ค้า ผู้ประกอบการสินค้าเช่น ผู้ประกอบธุรกิจลานมันสำปะหลัง ลานเทปาล์มน้ำมัน และผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาขึ้นทะเบียน และแจ้งรายละเอียดการดำเนินธุรกิจ เช่น ปริมาณที่รับซื้อ สถานที่จัดเก็บ ซื้อขายกับใครบ้าง เพื่อให้ภาครัฐสามารถข้าไปตรวจสอบดูแลผู้ที่อยู่ในระบบการซื้อขายได้ทุกขั้นตอน

“ที่ผ่านมา มักมีปัญหาเกษตรกรร้องเรียนว่าไม่ได้รับราคาที่เหมาะสมตามที่ภาครัฐกำหนด ในกรณีที่มีการกำหนดราคาแนะนำที่รับซื้อเพราะบางครั้งเกษตรกรไม่ได้ขายผลผลิตให้กับโรงงานโดยตรงแต่ขายให้กับผู้ค้า หรือพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อถึงที่ ทำให้เกษตรกรถูกกดราคา จนเกิดการร้องเรียนขึ้น ดังนั้น การที่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบและตรวจสอบได้ว่าราคารับซื้อที่หายไปนั้นไปตกอยู่ที่ใครและใครได้ผลประโยชน์ ทำให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้ถูกจุดมากขึ้น”

นางนันทวัลย์ กล่าวอีกว่า การออกประกาศดังกล่าวจะบังคับให้ผู้ประกอบการที่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 รายต่อประเภทสินค้า ทั้งมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ให้เข้ามาอยู่ในระบบซึ่งหากประกาศมีผลบังคับใช้แล้วยังไม่มาตามกำหนดก็จะถูกปรับรายวันๆละ 2,000 บาท และหากไม่ดำเนินการใดจะมีโทษตามกฎหมายคือปรับไม่เกิน 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาราคามันสำปะหลังที่แม้ว่าผลผลิตหลักๆจะออกมาหมดแล้วตั้งแต่ 4 เดือนแรกของปี แต่ในขณะนี้ก็ยังมีผลผลิตมันสำปะหลังออกมาในช่วงฤดูฝนซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตที่เชื้อแป้งต่ำทำให้ราคาตกต่ำลงไปด้วยซึ่งภาครัฐก็ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาไปแล้วรวม 14 มาตรการ เช่น ส่งเสริมให้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก ส่งเสริมการปลูกแบบระบบน้ำหยด ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือเพื่อผลิตมันสำปะหลังคุณภาพ รวมทั้งทางกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) ก็ได้ส่งทีมลงไปเพื่อตรวจสอบการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงปศุสัตว์อย่างครบวงจรคือ “สารคามโมเดล” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนใช้ ประโยชน์จากผลผลิตมันสำปะหลังทั้งปีโดยจะประสานกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) เพื่อดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไป


ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ดำเนินตามมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีของกระทรวงพาณิชย์อย่างเคร่งครัด โดยจะต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วน จึงจะมีสิทธิ์นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน โดยขณะนี้ภาษีนำเข้าข้าวสาลีอยู่ที่ 0% และเอกชนก็เรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีเพราะอ้างว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไม่เพียงพอ แต่กรมต้องดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างครอบคลุมหากให้มีการนำเข้าข้าสาลีมากขึ้นก็จะส่งผลต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศตกต่ำลงไปอีกเพราะเป็นวัตถุดิบที่ทดแทนกันได้ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอกระทรวงการคลังพิจารณาในเรื่องของการปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลีเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องรอผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังต่อไป