TU ฟื้น RED LOBSTER 700 สาขา กลับมาขายกุ้งใหม่

เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมา “สหรัฐ” มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 เป็นประเทศอันดับท็อป 3 ของโลกจนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในสหรัฐอย่างมาก

ในจำนวนนั้นก็มีธุรกิจของกลุ่มไทยยูเนี่ยนหรือ TU ที่ต้องปิดชั่วคราวไปด้วยนั่นคือ “ร้านอาหาร RED Lobster” แต่ผ่านมาถึงวันนี้ สหรัฐสามารถพลิกฟื้นให้กลับมาเปิดร้านอาหารได้แล้ว

นั่นจึงเป็นปัจจัยหนุนตัวหนึ่งทำให้ผลประกอบการไตรมาส 2 ของ TU บวก 8% มูลค่า 35,883 ล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU ถอดบทเรียนการฝ่าวิกฤตนี้

Red lobster พ้นจุดต่ำสุด

ที่สหรัฐเรามีทั้งหมด 650 สาขา ถ้ารวมแคนาดาด้วยก็เป็น 700 สาขา ตอนนั้นเรดล็อบสเตอร์ก็ถูกกระทบ แต่เป็นระยะสั้น 2 เดือน ในช่วงที่เกิดโควิดรอบแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว หลังจากนั้นเขาก็ปรับตัวเหมือนกับทุกที่ทั่วโลกที่ต้องขายออนไลน์ ดีลิเวอรี่ซื้อกลับไปทานที่บ้านให้มากยิ่งขึ้น

“จากการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมนูเพื่อสำหรับการซื้อกลับบ้าน การลดค่าใช้จ่าย การรักษากระแสเงินสดต่าง ๆ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้ง เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ ช่วงเวลาที่ยากลำบากของเขาก็ผ่านไปแล้ว”

สหรัฐฟื้นตัวเร็ว

เพราะประเทศเขากลับมาเปิดได้เร็วกว่าเรา วันนี้ร้านก็เปิดเกือบหมด 100% การใช้ชีวิตในอเมริกาก็กลับมาสู่วิถีชีวิตแบบปกติ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีมาตรการให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกรัฐแล้วก็เริ่มมีมาตรการของการแสดง certificate การฉีดวัคซีน

ซึ่งผมคิดว่าจากนี้ไปก็น่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่ว่า ใครจะเข้ามาในร้านอาหาร หรือทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ จะต้องมีการฉีดวัคซีนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงพนักงานที่เสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้าทั้งหมดก็ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งจะเป็นมาตรการจากนี้ต่อ ๆ ไปในทุก ๆ ที่ทั่วโลก

โมเดลร้านอาหาร new normal

ตอนนี้เรื่องการขายออนไลน์และดีลิเวอรี่ก็ยังอยู่ ถึงแม้ว่าจะกลับมาเปิดได้100% เพราะนี่ถือเป็นช่องทางใหม่เลยก็ว่าได้ ที่เราต้องพยายามทำต่อไปอย่างจริงจัง จากในอดีตขายช่องทางนี้ได้เพียง 5% แต่ในวันนี้ยอดขายจากช่องทางนี้เพิ่มขึ้นเป็น 20-25% ซึ่งถือว่าสำคัญมาก

เพราะเราคิดว่าพฤติกรรมคนก็เปลี่ยนไป มีความคุ้นเคยในการสั่งออนไลน์ หรือสั่งกลับมาบริโภคที่บ้านมากขึ้นด้วย ต้องเข้าใจว่าจากนี้ต่อไป การใช้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมแล้ว

การทำงานเวิร์กฟรอมโฮมจะมากขึ้นทุกที่ทั่วโลก ต่อไปบริษัทส่วนใหญ่อาจจะเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พื้นที่ใช้สอยสำนักงานก็จะเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างร้าน RED Lobster เดิมเคยมีออฟฟิศเป็นพื้นที่สำนักงานจำนวน 5 ชั้น ก็ทยอยคืนพื้นที่จนเหลือ 2 ชั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวโน้มต่าง ๆ ทั่วโลก

ผลตอบแทนสู่ TU เกินคาด

“นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ปีนี้เป็นปีที่เรดล็อบสเตอร์สามารถฝ่าวิกฤตและคืนผลตอบแทนกลับมาสู่ไทยยูเนี่ยนได้เป็นปีแรก จากในปีที่แล้วปีเดียวผลขาดทุนที่เรารับมาจาก RED Lobster มูลค่า 1,000 ล้านบาท

ซึ่งปีนี้ตอนแรกคาดหวังว่าการขาดทุนของเขาจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันเขาทำได้ดีกว่าที่เราตั้ง budget ไว้ เห็นว่าเขาสามารถทำผลตอบแทนกลับมาสนับสนุนผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของเราได้ค่อนข้างดีทีเดียว”

แนวโน้มสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง

“ปีนี้ทั้งปีเราตั้งเป้าว่า ยอดขายจะเติบโตขึ้นประมาณ 5% ซึ่งจนถึงตอนนี้ ผมก็มั่นใจว่าเราจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ภาคธุรกิจของเรา 90% เป็นรายได้จากต่างประเทศก็จะยังไปได้

เพราะประเทศต่างๆเค้าเปิดกันหมดแล้วทั้งในยุโรปอเมริกา ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องดูแลคือฐานการผลิตที่ประเทศไทยให้สามารถผลิตได้อย่างเต็มที่”

อาหารเป็นสินค้าที่ดีมาตลอดตั้งแต่ต้นปี จะเห็นว่าครึ่งปีแรกของเรามีผลประกอบการยอดขายที่ดีขึ้น 4.4% มูลค่า 67,007 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51%

เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากร้านอาหารและโรงแรมต่าง ๆ ในต่างประเทศที่กลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติซึ่งก็เป็นลูกค้า ส่งผลดีต่อวัตถุดิบอาหารแช่เยือกแข็งเติบโต 28% ซึ่งผมคิดว่าแนวโน้มก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะคนก็ยังบริโภค ทั้งนี้ ตลาดสหรัฐครองส่วนแบ่ง 44% ของตลาดทั้งหมด

อาหารสัตว์เลี้ยงดาวรุ่ง

กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าดาวเด่นในช่วงนี้ แต่จริง ๆ เราเริ่มผลิตและจำหน่ายสินค้านี้มาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว แต่ว่าในช่วง 3-4 ปีนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น

และในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้เติบโตขึ้นถึง 12.8% เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกก็มีความนิยมในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวมากขึ้น และก็ให้การดูแล ให้อาหารที่ดีมากขึ้น

“เรามีการสร้างขยายโรงงานสำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาประมาณ 30% เป็นโรงงานที่เยอะอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้”

อาหารกระป๋องดีกว่าก่อนโควิด

ในส่วนของอาหารทะเลกระป๋อง แม้ไตรมาส 2 ลดลง 6% ยังสูงกว่าช่วงปีก่อนที่จะมีโควิด ผมคิดว่าจากนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นค่าเงินบาทช่วยค่อนข้างมาก เพราะอ่อนค่าลงไปประมาณ 10% เป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้เราสามารถส่งออกได้ดีมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเรื่องต้นทุน เช่น ราคากระป๋องที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ทั่วโลกก็ต่างเจอเช่นกัน อันนี้เราไม่ค่อยห่วง สิ่งที่จะห่วงคือต้นทุนที่เกิดเฉพาะประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

อาหารอนาคต

ขณะเดียวกัน ทียูยังคงเน้นการลงทุนพัฒนาสินค้านวัตกรรมอาหารใหม่ และสินค้าอนาคตต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งปีแรกได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ 3 ราย คือ บริษัท วิอาควา เธอราปิดิกส์

ซึ่งสตาร์ตอัพจากอิสราเอลผลิตสินค้าชีวภาพเกี่ยวกับการดูแลโรคที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ, บริษัทบลูนาลู ในอเมริกา และบริษัท อเลฟฟาร์มส์ จากอิสราเอล ที่ทำเซลล์เบสมีต

“วันนี้เราก็ยังลงทุนสตาร์ตอัพต่อเนื่อง เราเพิ่งใช้เงินกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลไปเพียง 10 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของกองทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเรามองว่า startup ต่างประเทศยังเติบโตดีแม้ในช่วงโควิด

ในไทยเราก็ยังทำเรื่องสเปซเอฟไม่ได้ชะลออะไรเลย เพียงแต่การทำงานอาจจะลำบากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้บางโครงการดีเลย์ไปบ้าง แต่ไม่น่าห่วง”

อีกด้านหนึ่ง TU ยังได้ต่อยอดการผลิตและทำตลาดอาหารอนาคต โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช หรือ plant base meat ซึ่งขณะนี้มีแบรนด์ OMG ของตัวเอง ผลิตสินค้าออกมา 6-7 รายการ

ขายในห้างชั้นนำ และกำลังจะส่งเข้าไปจำหน่ายในห้างแม็คโคร และรับจ้างผลิต OEM ด้วย หรืออย่างล่าสุดการลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU กับบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเราจะเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับวีฟู้ดส์ด้วย


ทั้งนี้ การทำตลาดสินค้าแพลนต์เบสอาจจะต้องแตกต่างจากสินค้าปกติ ต้องเน้นการทำสาธิต แต่เพราะว่าช่วงนี้โควิดจึงไม่สามารถที่จะไปตั้งบูทสาธิตการทำอาหารได้ คนก็อาจจะไม่ค่อยรู้จักสินค้าประเภทนี้เท่าที่ควร แต่ก็ต้องใช้เวลา