บ้านปูเผยครึ่งปีหลังจ่อ COD โรงไฟฟ้า 700 เมกฯ ครึ่งปีแรกกำไรทะลุ 2 พันล้าน

บ้านปู ผงาดโชว์ผลงานครึ่งปีแรกโกยกำไรทะลุ 2 พันล้าน โต 30% รับอานิสงส์จากส่วนแบ่งกำไร-การรักษาเสถียรภาพการจ่ายไฟ พร้อมเผยครึ่งปีหลังเตรียม COD โรงไฟฟ้าเพิ่มอีกกว่า 700 เมกฯ ในต่างประเทศ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น มุ่งลงทุนพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ลั่นแผน 5 ปี ขยับกำลังการผลิต 5.3 พันเมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้หลายประเทศยังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 ยังเติบโตแข็งแกร่ง ซึ่งมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBIDA) 2,399 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากผลดำเนินงานโดยรวม พร้อมทั้งยังสามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย ที่มีค่าความพร้อมจ่าย สูงที่อัตรา 92% และ 87% ตามลําดับ

กิรณ ลิมปพยอม

ขณะเดียวกันการลงทุนภายในปีนี้บริษัทยังเตรียมที่จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีกกว่า 700 เมกะวัตต์โดยมีโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 โรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน ในเวียดนาม กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่เข้าลงทุนก่อนหน้านี้จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/2564 เช่นกัน

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/2564

รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี CCGT ให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัสซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและเป็นโรงไฟฟ้าที่จัดอยู่ในลำดับการเรียกจ่ายไฟฟ้าที่ดี โดยมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 384 เมกะวัตต์ และคาดว่าการลงทุนในครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2564 อีกด้วย

“ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 บริษัทยังคงดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ ทั้งนี้ตั้งเป้าในระยะ 5 ปี (2564-2568) บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไปสู่ 5,300 เมกะวัตต์ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยอาจจะไม่ใช่การลงทุนในเชื้อเพลิงถ่านหินแล้ว แต่จะเน้นไปที่กลุ่มที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่” นายกิรณ กล่าว