โรงงานแบกภาระทำ “แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์” เดือนละ 3 พันล้าน

โรงงานผลิต-ส่งออก

ส.อ.ท. เตรียมร่อนจดหมายถึง “4 กระทรวง” พรุ่งนี้ (24 ส.ค. 64) เสนอ 4 มาตรการควบคุมโควิดภาคอุตสาหกรรม ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งตรวจ ATK 200 บาท/คน 3,200 ล้านบาท/เดือน ค่าเตียง 10,000 บาท หรืออีกกว่า 3,700 ล้านบาท หลังรัฐสั่งทำ Factory Quarantine ย้ำหากรัฐไม่สนับสนุนโรงงานพังแน่

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตและส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการติดเชื้อในโรงงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชน ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ได้จัดทำ “มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม”

สุพันธุ์ มงคลสุธี

เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอาการรุนแรง พร้อมรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งโรงงานที่ดำเนินการอย่างถูกต้องจะไม่ถูกปิด หากยังสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน” โดยได้กำหนด 4 มาตรการขึ้นมา และเป็นข้อเสนอที่จะยื่นต่อ 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค. 2564) ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนตามมาตรการที่เอกชนกำลังดำเนินการอยู่

เนื่องจากในทุก ๆ มาตรการดังกล่าวจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระเอง เพราะต้องการให้การผลิตยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องปิดโรงงาน ดังนั้นรัฐจะต้องพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้

คือ 1.มาตรการ Bubble and Seal สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติ ได้จริงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงานทุก 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน Bubble ในโรงงานตามปกติ

ซึ่งชุดตรวจ ATK จะต้องมีราคาไม่เกิน 200 บาท และหากคำนวนตามที่รัฐกำหนดให้ทำ จะพบว่าหากต้องตรวจ ATK ทุก 7 วัน สำหรับ 60,000 โรงงาน มีแรงงานกว่า 3.7 ล้านคน รวมแล้วจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดสูงถึง 3,202 ล้านบาท/เดือน

2.สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา เพื่อลดขั้นตอนในการหาโรงพยาบาล

และในส่วนนี้เองโรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนของเตียงถึง 10,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายสาวนอื่น ๆ เพิ่มเติมแล้วทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 3,700 ล้านบาท

3.สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้ง Community Quarantine (CQ), Community Isolation (CI) (ศูนย์พักคอยและแยกกักตัว) ให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่

4.จัดสรรวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด

“นี่ไม่ใช่การเรียกร้อง แต่มันเป็นข้อเสนอเพื่อระบบสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของแรงงานภาคอุตสาหกรรม ผมอยากให้รัฐเข้าใจว่านี่ ไม่ใช่การร้องขอเงินจากรัฐ แต่เราร้องขอการสนับสนุนในสิ่งที่รัฐให้เราทำ ตอนนี้โรงงานเขาจะไม่ไหวแล้ว ไม่อย่างนั้นถ้าโรงงานต้องปิดหยุดการผลิต ผลกระทบคือการส่งออกและการขยายตัวของ GDP ที่ต้องลดลง”