จ่อขยายมาตรการ Green Tax Expense ลดหย่อนภาษี 1.25 เท่า

“สุริยะ” เร่งขับเคลื่อน Bio economy เผย 5 โครงการมูลค่าลงทุนกว่า 149,000 ล้านบาท หวังกระตุ้น GDP และหนุนไทยเป็นไบโอฮับอาเซียน ด้านสศอ. หารือกระทรวงการคลัง ขยายมาตรการ Green Tax Expense ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 1.25 เท่า จูงใจห้างร้านใช้ไบโอพลาสติกไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (17 ส.ค. 2564) มีมติรับทราบข้อมูลความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 โดย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจใหม่  BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กิโลเมตร โดยให้โรงงานอื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานเอทานอล โรงงานเคมีชีวภาพสามารถตั้งในบริเวณใกล้กับโรงงานน้ำตาลเดิมได้ 

การแก้ไขเพิ่มประเภทโรงงานอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ 3 ประเภท ได้แก่ การทำเคมีภัณฑ์จากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการเคมีชีวภาพ การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องรวมกับวัตถุดิบจากปิโตรเลียมและทำให้สลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งการเพิ่มประเภทโรงงานดังกล่าวจะช่วยให้การกำกับดูแล การประกอบกิจการโรงงานหลักที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพมีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดลพบุรี เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ

ถึงแม้บางโครงการต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคจากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนหลายรายยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด (GKBI) ที่ล่าสุด ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด (NatureWorks) จากสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด (PLA) กำลังการผลิตถึงประมาณ 75,000 ตันต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 2 มีมูลค่าลงทุน 21,430 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2565 นี้ และสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ของบริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน 57,600 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical grade) 

โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด ที่จังหวัดลพบุรี มูลค่าลงทุน 32,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่จังหวัดขอนแก่น มูลค่าลงทุน 29,705 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทางด้านพันธุ์สัตว์ในพื้นที่รอบโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ เบกกิ้งยีสต์ (Baking yeast) จากกากน้ำตาล

โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ของบริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด มูลค่าลงทุน 8,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA และพิจารณาแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี โดยโครงการ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นพร้อมสร้างการรับรู้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโครงการแล้ว

ทั้งนี้ หากภาคเอกชนสามารถดำเนินโครงการต่างๆ ที่รายงาน ครม. รับทราบได้ตามแผนที่กำหนดไว้ จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้นอีกกว่า 149,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยหนุน GDP ของไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้นแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเหล่านี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการสำคัญจะเป็นการสร้างงาน ก่อให้เกิดรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ทั้งฉะเชิงเทรา ลพบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศ 

ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าด้วยมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพในทุกพื้นที่ของประเทศสอดรับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล และก้าวสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวเสริมว่า นอกจากการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว การสร้างดีมานด์ในประเทศ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ซึ่ง สศอ. ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต (Converter) เพื่อให้ผู้ซื้อคนแรกที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามประเภทที่ กรมสรรพากร กำหนดนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่าย ที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ในช่วงปี 2562- กรกฎาคม 2564 สศอ. ได้ออกใบรับรองแล้วทั้งสิ้น 48 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิตรวม 4 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหลอดพลาสติก

ขณะนี้ สศอ. และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่ามีตลาดรองรับเพียงพออย่างแน่นอน และจูงใจให้ห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด 

ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือคิดเป็นปริมาณความต้องการเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประมาณ 43,000 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกของประเทศอีกด้วย