ปลูกฟ้าทะลายโจร-กัญชา EEC จับมือ ส.ป.ก. ขายในประเทศ-ส่งออก

แฟ้มภาพ

“ธรรมนัส” ผนึก ส.ป.ก.-อีอีซี เปลี่ยนเกษตรกรปลูก ”กัญชง-กัญชา-ฟ้าทะลายโจร” ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงหวังยกระดับสมุนไพรไทยให้ส่งออกเพิ่ม-สั่งศึกษาปลูกต้นกระท่อมหลังรัฐบาลไฟเขียวถูกกฏหมาย

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีร่วมลงนามในบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าตลาดสมุนไพรมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะสมุนไพรเป็นพืชที่มีศักยภาพทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เชื่อว่าอนาคตสมุนไพรไทยจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกไปทั่วโลก

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการปรับเปลี่ยนอนาคตของเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเปลี่ยนการปลูกพืชแบบเดิม ๆ สู่พืชที่มีอนาคตสูง เริ่มพืช 2 ชนิด ได้แก่

1.กัญชงและกัญชา ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพในการรักษา โดยเฉพาะโรคมะเร็ง พาร์กินสัน และอัลไซเมอร์ อีกทั้งมีความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีซีซี คือ การทำการเกษตรสมัยใหม่ด้วยการปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด การวางรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม

2.ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชสมุนไพรที่ในปัจจุบันประเทศไทยใชเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรับรองแล้ว ว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในปริมาณที่พอเพียงสำหรับการรักษาโรค โดยแจกให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีความต้องการในตลาดเป็นจำนวนมาก หากมีการสร้างสินค้าและแบรนด์สินค้า วางรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม ทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ และวางการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องการของตลาดจะสามารถใช้ในประเทศ และส่งออกได้มากขึ้น

สำหรับข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี 2563 พบว่าสมุนไพรไทยส่งออกประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสมุนไพรไทยในกลุ่มเสริมอาหารมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย อาทิ กระชายขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทะลายโจร มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่

ล่าสุด กระแสการใช้สมุนไพรไทยรักษาโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความนิยมกันแพร่หลาย และในวันนี้เกษตรกรยังรับข่าวดีว่า รัฐบาลปลดล็อกพืชกระท่อมให้พ้นบัญชียาเสพติด เพราะภูมิปัญหาชาวบ้าน ภูมิปัญญาไทย ใช้ใบพืชกระท่อมเคี้ยวแล้วทำงาน ไม่ปวดเมื่อย และเวลาเป็นไข้หวัดนำใบพืชกระท่อมล้างน้ำให้สะอาดแล้วต้มกับน้ำดื่มแก้อาการไข้หวัดได้ด้วย อนาคตอาจจะต้องมีการศึกษา และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกระท่อมในที่ ส.ป.ก.ด้วย

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า การทำงานของอีอีซี อยู่ในระยะของการสร้างการพัฒนาลงสู่ประชาชนในพื้นที่ ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาสาธารณูปโภค ไฟฟ้า-น้ำ-ขยะ การพัฒนาคน และสาธารณสุขในระดับหนึ่งแล้ว การยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จึงเป็นเป้าหมายหลักในระยะต่อไป

สำหรับความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง ส.ป.ก. และ สกพอ. ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการด้านการพัฒนาเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาพืชสมุนไพร และกิจการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรอย่างครบวงจร ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายที่จะยกระดับพืชสมุนไพรของไทย มีคุณภาพมาตรฐานสากล ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการทำตลาด

โดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ตลอดจนการทำตลาดสมัยใหม่ ให้สมุนไพรไทยขายได้ตรงความต้องการของตลาด มีราคาสูง สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร โดยกรอบความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรฯ ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1.สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่อีอีซี ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

2.สนับสนุนข้อมูลให้เกษตรกร ข้อมูลที่ดินรวมทั้งกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในพื้นที่อีอีซี

3.ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และพื้นที่ดำเนินการที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการพัฒนาพืชสมุนไพร นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต และขายได้ตรงตลาด

4.สร้างเครือข่ายงานวิจัยและการต่อยอดสมุนไพรไทย ให้ได้ตรงความต้องการตลาด

ทั้งนี้ จะร่วมกันศึกษาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ให้มีผลโดยเร็วและเป็นรูปธรรม มีระยะเวลา 2 ปี ตามอายุของข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯอีอีซี) กล่าวว่า ได้ดำเนินการพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อีอีซี โดยมีแผนพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการผลิตและการตลาดให้ตรงกับความต้องการซื้อ

โดยใช้ EECi เป็นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีภาคเกษตร และยังได้จัดทำโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง ชุมชน การนิคมแห่งประเทศไทย และ ปตท. ในการทำระบบห้องเย็น (Blast Freezer & Cold Storage) เพื่อเก็บและพัฒนาสินค้าผลไม้ไว้ขายนอกฤดูกาล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้