“เวที รมต.การค้าโลก” ร้อน ไขก๊อกเปิดเสรีวัคซีน

วัคซีน
แฟ้มภาพ

การประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 (The 12th WTO Ministerail Conference : MC12) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ระหว่าง 30 พ.ย.-3 ธ.ค. 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ต้องจับตาท่าทีการทำงานผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่เกี่ยวกับการคลายปัญหา “วัคซีนโควิด”

นางสาวพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวว่า การประชุม MC ครั้งนี้ มี 4 ประเด็น คือ

1.บทบาทของ WTO ต่อการรับมือกับโควิด 2.การสรุปผลการเจรจาอุดหนุนประมง 3.การเจรจาเกษตร 4.การปฎิรูป WTO และอื่น ๆ

โดยประเด็นที่น่าสนใจในปีนี้น่าจะเป็นเรื่องของบทบาท WTO ในการเข้าถึงวัคซีนโควิดที่มุ่งเน้นหารือถึงกรณีทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นต่าง 2 ฝ่าย คือประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) มองว่าทรัพย์สินทางปัญญาไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวัคซีน เพราะภายใต้ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาโลก (TRIPs) เปิดโอกาสให้สมาชิกใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) เพื่อให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีนสามารถผลิตวัคซีนที่มีสิทธิบัตรได้

ขณะที่อินเดียและแอฟริกาใต้ เสนอให้ยกเว้นการปฏิบัติตามทริปส์บางข้อและขอเวลา 3 ปี ทั้งหมดน่าจะชัดเจนขึ้น ส่วนการเจรจาความตกลงอุดหนุนประมง คาดว่าไม่น่ากังวลเท่ากับเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจากปัญหาโควิด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเจรจาช่วงโควิดควรมีมาตรการเจรจาปลดล็อกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสินค้าจำเป็นเร่งด่วน อาทิ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ วัคซีน ส่วนประเด็นทางการค้าในช่วงล็อกดาวน์ซึ่งทุกประเทศมีการใช้มาตรการทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีต้องปรับตัวเพื่อให้สินค้าไทยปลอดภัย

ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาโควิดแทบจะกลายเป็นอาวุธทางชีวภาพจากที่มีการตั้งกฎขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างอำนาจต่อรองการค้า อีกทั้งพฤติกรรมใหม่ new normal ล้วนมีผลกระทบต่อกฎระเบียบการค้า

ขณะที่ นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมงครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้ทั่วโลกมองเห็นความสำคัญทรัพยากรประมงไทยมากขึ้น ภายหลังจากปี 2558 มีการปฏิรูปประมงทั้งระบบ เพื่อขจัดและต่อต้านการทำประมง IUU

ส่วน นางหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภาคเกษตรไทยเองได้รับความท้าทายทุกมิติ โดยเฉพาะมาตรการการอุดหนุนราคา ทั้งยังสินค้าเกษตรที่จะผลิตเพื่อส่งออกยังต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาโควิดยังเป็นประเด็นหลักที่ส่งต่อการค้าอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัล อีคอมเมิร์ซที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขันที่เป็นระบบสามารถตรวจสอบได้