ไทย-กวางตุ้ง จับมือนำร่องดันอุตสาหกรรม EV 5G Smart City ใน EEC

อีอีซี-EEC
แฟ้มภาพประกอบข่าว

EEC กระชับความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ตั้งคณะทำงานให้เกิดเป็นรูปธรรมย้ำเดินหน้าความร่วมมือ 5 สาขาหลัก อุตสาหกรรม EV ดิจิทัล 5G สุขภาพ Smart City และเศรษฐกิจสีเขียว เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายหม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธาน การประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง (High Level Cooperation Conference : HLCC) ครั้งที่ 1 หัวข้อ Stronger Strategic Synergy between GBA and the EEC for a Better Future

โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายวีรชัย มั่นสินทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน (สภาอุตสาหกรรม) นายโจว ย่าเหว่ย สมาชิกถาวรพรรคคอมมิวนิสต์จีน นครกว่างโจว (เทียบเท่ารองนายกเทศมนตรีกว่างโจว) นายเถา หย่งซิน รองนายกเทศมนตรีเสิ่นเจิ้น และนายจู เหว่ย รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกวางตุ้ง และสำนักงาน GBA เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุม HLCC ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (GBA) ของจีน ซึ่งประกอบด้วยมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับ GBA ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

นายสุริยะกล่าวว่า ตนยังได้เสนอในประเด็นเร่งด่วนที่ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดส่งเสริมความร่วมมือ ได้แก่ 1.การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (supply chain connectivity) ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก 2.การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และ Startups และ 3.การพัฒนา Smart City และ 5G โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดําเนินการ ให้ผลหารือให้เป็นรูปธรรม

นายคณิศ แสงสุพรรณ ได้กล่าวถึง ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ให้แก่ทางมณฑลกวางตุ้งรับทราบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในด้านการพัฒนา 5G ในพื้นที่อีอีซี และการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ซึ่งอีอีซีจะให้ความสำคัญกับ 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1.Digital and 5G 2.Smart Logistics 3.Health and Wellbeing โดยมี BCG (Bio-circular-Green) เป็นแนวทางการลงทุนและประกอบธุรกิจสำหรับทุกคลัสเตอร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็น Net Zero Emission ในภาคอุตสาหกรรมของพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระหว่างอีอีซี และ GBA ผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านทาง สปป.ลาว และไทยมายังปลายทางอีอีซี จากแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ฉงชิ่ง และคุนหมิง การเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันในอนาคตผ่าน Land bridge ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป

และโอกาสการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภา ที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงเป็น Connectivity Hub เชื่อมโยงพื้นที่ GBA กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของอีอีซี ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ASEAN รวมถึงการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับ Belt & Road Initiative

ทั้งนี้ ยังได้ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับ GBA ในด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม 5 สาขาหลักที่กวางตุ้งมีศักยภาพ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV 2.ดิจิทัลและ 5G 3.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4.Smart City และ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Green and Circular Economy

ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการร่วมประชุมฝ่ายไทย ได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (supply chain connectivity) ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และ Startups  และการพัฒนา Smart City และ 5G

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้รับรองความร่วมมือ 6 สาขา ที่ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการ ได้แก่ อุตสาหกรรมสมัยใหม่ เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน การเกษตร วัฒนธรรมการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ การแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างท้องถิ่น ความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน

โดยทั้งสองฝ่ายยินดียกระดับความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับสำนักงาน GBA และเขตนำร่องการค้าเสรีของกวางตุ้ง และเห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง และมีการร่วมมือและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยจะเจาะลึกถึงการลงทุนในกิจการและอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน