จุรินทร์มั่นใจส่งออกผลไม้ปี’64 พุ่ง 1.8 แสนล้าน หลังเจรจาออนไลน์ 37 ประเทศ

ผลไม้

“จุรินทร์” ตั้งเป้าดันส่งออกผลไม้ปีนี้กว่า 1.8 แสนล้านบาท เพิ่ม 30% มั่นใจเข้าเป้า หลัง 7 เดือนทำยอดแล้ว 1.3 แสนล้าน เพิ่ม 48.31% ล่าสุดเจรจาออนไลน์ 37 ประเทศ แห่สั่งซื้อกว่า 2 พันล้าน

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างการเป็นสักขีพยานในพิธีประกาศความตกลงซื้อขายผลไม้ (MOP) ว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการจัดกิจกรรมเจรจาซื้อขายผลไม้ไทยในช่วงที่ผ่านมา 2 ส่วน คือ การเจรจาจับคู่ซื้อขายของภาคตะวันออกของประเทศ โดยได้จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 24-25 มี.ค. 2564 มีผู้ส่งออกไทย 39 ราย ผู้นำเข้าจากต่างประเทศ 179 ราย จาก 37 ประเทศ เจรจาซื้อขายได้ 392 คู่ คิดเป็นเงิน 2,276 ล้านบาท

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ประเทศที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฮังการี อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐ โดยผลไม้ 5 ลำดับที่เจรจาสำเร็จ ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว สับปะรด และมังคุด ส่วนภาคใต้ ภาคเหนือ ดำเนินการจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจไปเมื่อวันที่ 22-23 ก.ค. 2564 มีผู้ส่งออกไทย 65 ราย ผู้นำเข้า 72 ราย จาก 20 ประเทศ ประสบความสำเร็จ 257 คู่ คิดเป็นยอดเงิน 1,865 ล้านบาท เป็นผู้นำเข้าจาก จีน เมียนมา อินเดีย ฮ่องกง และกัมพูชา ผลไม้สำคัญ ได้แก่ มะพร้าว สับปะรด มะม่วง และลำไย

สำหรับการเจรจาจับคู่ซื้อขายทั้ง 2 ครั้ง สามารถทำยอดได้ 4,141 ล้านบาท และกิจกรรมต่อเนื่องในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาทั้ง 2 ครั้ง โดยได้มีการประกาศจับคู่ที่กำหนดนัดหมายส่งมอบที่เป็นรูปธรรมแล้ว 21 คู่ เป็นเงินซื้อขายจริงที่จะชำระกัน 2,394 ล้าน จากยอดที่ตกลง 4,141 ล้านบาท หรือที่เรียกว่า MOP ตกลงซื้อขายจริง มี 21 คู่ เป็นผู้ส่งออกไทย 21 ราย ผู้นำเข้า 21 ราย จาก 16 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ลาว เมียนมา สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สเปน เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา กัมพูชา ยูเออี และมาเลเซีย ผลไม้สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง ลำไย มังคุด และมะพร้าว

ทั้งนี้ ผลไม้ไทยถือว่าเป็นสินค้าเป้าหมายสำคัญในการส่งออกเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ยอดการส่งออกเฉพาะผลไม้สดและผลไม้แปรรูป มีมูลค่า 131,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.31% และได้ตั้งเป้าหมายปีนี้ทั้งปีว่าจะส่งออกเพื่อทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%

ผลไม้

ผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการจัด กิจกรรมสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยรวม 4 กิจกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่ การจัดเจรจาจับคู่ทางการค้าออนไลน์ (Online Business Matching-OBM) เพื่อซื้อขายผลไม้ระหว่างผู้ส่งออกกับผู้นำเข้าต่างประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าและในตลาดสำคัญในต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า In Store Promotion การจัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Month ในประเทศต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มสำคัญ ๆ ระดับโลก เช่น bigbasket ของอินเดีย Tmall ของจีน เป็นต้น

“กิจกรรมที่ทำเกิดความสำเร็จเป็นอย่างมาก อย่างในจีน ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา จัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Month ไปแล้ว 8 เมือง หนานหนิง ไห่หนาน ฉงชิ่ง ชิงเต่า เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ต่าเหลียง ฝอซาน สามารถทำรายได้ ถึง 15,000 ล้านบาท และยังมีแผนงานในช่วงที่เหลืออีก 5 เมือง เซี่ยะเหมิน หนานชาง คุนหมิง อู่อั่น และหนานหนิง คาดว่าจะทำรายได้อีกไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้าน รวมแล้วเฉพาะ Thai Fruit Golden Month รวม 13 เมือง จะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท”

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ได้ให้นโยบายไปยังพาณิชย์จังหวัด ซึ่งเป็นเซลส์แมนจังหวัด ทำหน้าที่ช่วยเจรจาจับคู่ซื้อขาย เพื่อที่จะระบายผลไม้ที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะลำไย ภาคเหนือ ลองกอง ภาคใต้ ที่กำลังจะออกตามมา โดยให้เชื่อมโยงการซื้อขายระหว่างจังหวัดกับจังหวัด และขอให้ทูตพาณิชย์ ในฐานะเซลส์แมนประเทศ เร่งหาตลาดระบายผลไม้เพิ่มเติม และเตรียมแผนระบายในปีต่อไป เป็นการทำงานเชิงรุก อย่าให้มีปัญหาก่อนแล้วค่อยมาแก้

“ผลไม้ไทยยังมีอนาคต พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ต้องทำงานร่วมกัน ภาคการผลิตต้องผลิตสินค้าคุณภาพ ได้เกรดมาตรฐาน ตามที่ตลาดต้องการ ภาคตลาดก็ต้องหาตลาดเพิ่ม เช่น ชิลี ที่ต้องการมังคุด ลองกอง ก็ต้องไปขาย ตลาดเดิมอย่างจีน ที่ใหญ่มาก ก็ต้องดำเนินการต่อ โดยที่เห็นชัด ๆ อย่างเดือน มิ.ย. 2564 ไทยส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้นสูงถึง 488% มังคุด 178%”