เกษตร-คลัง ปรับเกณฑ์ชดเชยเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ กระทรวงการคลัง ประกาศใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรฉบับใหม่ กลุ่มปศุสัตว์ที่พบโรคระบาดลัมปีสกิน รับกลุ่มแรก ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประกาศใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรฉบับใหม่ (371/2564) ว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ประกาศใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเพื่อปรับปรุงอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิมตั้งแต่ปี 2556

ประภัตร โพธสุธน
ประภัตร โพธสุธน

ซึ่งร่างหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีขอบเขตการจ่ายเงินทดรองราชการว่า จะต้องเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้านการเกษตร แก่ผู้ประสบภัยที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งมีหลายด้าน อาทิ ด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ เป็นต้น

สำหรับการให้การช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหายให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือโดยดำเนินการช่วยเหลือ อาทิ โค ได้ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 13,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 22,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท กระบือ ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท

สุกร รายละไม่เกิน 10 ตัว อายุ 1 ถึง 30 วัน 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 บาทขึ้นไป 3,000 บาท แพะ แกะ ไม่เกินรายละ 10 ตัว อายุ 1-30 วัน 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วัน 3,000 บาท ไก่พื้นเมือง ไก่งวง ไม่เกินรายละ 300 ตัว อายุ 1-21 วัน 30 บาท อายุ 21 วันขึ้นไป 80 บาท ทั้งนี้ ยังมี ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ดไข่ เป็ดเนื้อ นกกระทา นกกระจอกเทศและห่านตามอัตราที่กำหนด

ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านพืช ข้าว เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 1,340 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 20.39% จากเดิมชาวนาจะได้รับเยียวยากรณีประสบภัยพิบัติ 1,113 บาท/ไร่  ไม่เกิน 30 ไร่/ราย, พืชไร่เยียวยา 1,980 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 72.4% จากเดิมพืชไร่จะได้รับเยียวยา 1,048 บาท/ไร่ ไม่เกิน 30 ไร่/ราย, พืชสวนเยียวยา 1,980 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 17% จากเดิมพืชไร่จะได้รับเยียวยา 1,690 บาท/ไร่ ไม่เกิน 30 ไร่/ราย, ไม้ผลไม้ยืนต้น เยียวยา 4,048 บาท/ไร่ ไม่เกิน 30 ไร่/ราย เดิมไม่ได้รับการเยียวยา

ขณะที่ประมง อาทิ กุ้งกร้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หรือหอยทะเล เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 11,780 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 7.8% จากได้รับเยียวยากรณีประสบภัยพิบัติ 10,920 บาท/ไร่ ช่วยเหลือไม่เกิน 5 ไร่/ราย,ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 4,682 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 10.8% จากได้รับเยียวยากรณีประสบภัยพิบัติ 4,225 บาท/ไร่  ช่วยเหลือไม่เกิน 5 ไร่/ราย,สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 368 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 16.8% จากได้รับเยียวยากรณีประสบภัยพิบัติ 315 บาท ช่วยเหลือไม่เกิน 80 ตาราเมตร(ตร.ม.)/ราย

ส่วนด้านปศุสัตว์ อายุน้อยกว่า 6 เดือน เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 13,000 บาท/ตัว เพิ่มขึ้น 116% จากเดิมเยียวยา 6,000 บาท/ตัว, อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 22,000 บาท/ตัว เพิ่มขึ้น 83% จากเดิมเยียวยา 12,000 บาท/ตัว, อายุมากกว่า 1 ปี ไม่เกิน 2 ปี เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 29,000 บาท/ตัว เพิ่มขึ้น 81% จากเดิมเยียวยา 16,000 บาท/ตัว, อายุมากกว่า 2 ปี เกษตรกรจะได้รับเยียวยา 35,000 บาท/ตัว เพิ่มขึ้น 75% จากเดิมเยียวยา 20,000 บาท/ตัวและเพิ่มการเยียวยา จาก 2 ตัว/ราย เป็นไม่เกิน 5 ตัว/ราย

ทั้งนี้ ความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ นั้น ในส่วนของการจ่ายเงินเยียวยากรณีโค กระบือ เสียชีวิตจากโรคลัมปี สกิน คาดว่าจะเริ่มจายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ยื่นเอกสารเข้ามาและผ่านการตรวจสอบตามกระบวนการของกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้วภายในวันที่ 1 กันยายนนี้ หรือไม่เกินสัปดาห์หน้า ซึ่งจะจ่ายจากบัญชีของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง

“การปรับเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเกือบทุกชนิดสัตว์ และมีอัตราเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคาดว่าเกษตรกรผู้ประสบภัยจากโรคลัมปี สกินจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือตามอัตราใหม่ โดยหลักเกณฑ์ฯ ระบุว่าผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟู สุขภาพสัตว์เลี้ยงและการจัดหาอาหารสัตว์ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงินในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่”

โดยกรมปศุสัตว์ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมโรค ทำให้สถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และตอนนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน เข้ามาเพิ่มอีก 5 ล้านโดส ซึ่งใช้งบกลางในการจัดซื้อ วงเงินประมาณ 684 ล้านบาท โดยจะมีการนำเข้ามาถึงประเทศไทยภายในวันที่ 6 กันยายน 2564 ประมาณ 2.5 ล้านโดส และจะทยอยเข้ามาอีก ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการวางแผนจัดสรรวัคซีนไว้แล้ว