จ่อให้ BOI อุตสาหกรรมอวกาศ ดูดลงทุน New-Curve สู่เป้า 5 แสนล้าน

ดาวเทียม

ชงบอร์ดบีโอไอเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ “อวกาศดาวเทียม” ดูดลงทุนปี’65 ประเดิมดึง “มิวสเปซ” startup ไทยผลิตชิ้นส่วนเชื่อมรายใหญ่พร้อมปรับสิทธิประโยชน์กลุ่มอิเล็กฯเป็น 8 ปี เพิ่มแผนดึงนักลงทุนญี่ปุ่น-จีน ปรับแผนรับการลงทุน คาดฟื้นอีก 2 ปีได้เห็น 7 แสนล้านบาท

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แผนงานในครึ่งปีหลัง 2564 จะมีการทบทวนสิทธิประโยชน์และเพิ่มประเภทกิจการให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญคือกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น จึงมีแผนที่จะเพิ่มประเภทกิจกา

รเป้าหมายใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยจะให้การส่งเสริมกิจการผลิตดาวเทียม

ซึ่งพบว่าขณะนี้มีบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ที่มีสถานะเป็น tech startup ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศสัญชาติไทย และให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมรวมถึงมีเครือข่ายนักลงทุนต่างชาติ ที่มีโอกาสจะดึงเข้ามาเพื่อร่วมมือกัน โดยไทยจะสนับสนุนในส่วนของซัพพลายเชน

โดยระหว่างนี้ได้อยู่ในช่วงของการทำงานและรวบรวมข้อมูลกับทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA คาดว่าภายในปีนี้จะเร่งเสนอให้บอร์ดบีโอไอรับพิจารณา และกำหนดเป็นนโยบายเพื่อจัดทำเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนพร้อมแผนการชักจูงการลงทุนได้ในปี 2565

“กิจการผลิตพวกอวกาศอย่างดาวเทียมจะเป็นอีกเป้าหมายที่เราจะดึงการลงทุนเข้ามา ให้สิทธิประโยชน์เท่า new s-curve เพราะเรามองระยะยาวแล้วเห็นว่าเรื่องของดาวเทียม ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งอยู่เหนือพื้นโลกระยะ 200 กิโลเมตรในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นกำลังมาแรง และจะถูกนำมาใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเองก็มีฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์มันจะขยับไปสู่ดาวเทียมได้ ถ้าแพ็กเกจออกมาเราก็จะดึงนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาได้ อย่างสเปซเอ็กซ์ของอเมริกา หรือแม้แต่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนให้อินโดนีเชีย ที่จะทำเป็นฐานปล่อยจรวด”

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะปรับเพิ่มประเภทกิจการ และสิทธิประโยชน์ให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็น 8 ปีจากเดิม 3 ปีที่ยังไม่ค่อยจูงใจเท่าใด เช่น จะเพิ่มประเภทไมโครชิป แผ่นเวเฟอร์ ชิ้นส่วนที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงใช้ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า smart ต่าง ๆ รวมถึงชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งขณะนี้มีการเจรจากับนักลงทุนแล้ว 10 ราย เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนโดยเป็นกิจการขนาดระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการลงทุนในกลุ่มนี้ครึ่งปีหลังจะเพิ่มเข้ามาอีกกว่า 10,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกเข้ามาแล้ว 60,970 ล้านบาท

ทั้งนี้ บีโอไอยังปรับวิธีการชักจูงนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น เนื่องจากก่อนนี้ญี่ปุ่นได้สะท้อนกลับมาว่าสิทธิประโยชน์บางอย่างยังไม่จูงใจ ไม่ครอบคลุม และยังขาดการรับรู้เท่าที่ควร ดังนั้นจึงกำหนดให้สำนักงานต่างประเทศที่โอซากา และโตเกียว เพิ่มกิจกรรมและหาช่องทางพบปะนักลงทุนเพิ่มขึ้น แม้ในระหว่างนี้จะใช้รูปแบบได้เพียงออนไลน์เท่านั้น แต่วิธีนี้ส่วนหนึ่งได้ช่วยให้นักลงทุนเดิมตัดสินใจลงทุนได้ทันที ถึงแม้จะมีเพียงบางส่วนที่ยังรอโอกาสเข้ามาดูลู่ทางหลังโควิด-19 จบจึงจะตัดสินใจก็ตาม

ขณะเดียวกันจะดึงดูดการลงทุนจากจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มไฮเทค เช่น 5G ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) อิเล็กทรอนิกส์ และระบบราง ซึ่งกลยุทธ์การชักจูงนักลงทุนหลังจากนี้บีโอไอก็ยังคงต้องปรับ โดยจะดึงมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รู้ว่านอกจากบุคลากรที่ไทยจะพัฒนาไว้รองรับแล้ว ยังมีหน่วยงานเหล่านี้ซัพพอร์ตคน ความรู้ควบคู่กันไปด้วย

สำหรับภาพรวมการลงทุนปี 2564 คาดว่าจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนแตะที่ 500,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2564) มีมูลค่ากว่า 380,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนแนวโน้มการลงทุนปี 2565 ยอดขอรับการส่งเสริมจะเพิ่มขึ้นและไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีนี้ โดยน่าจะเป็นช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย มีการตัดสินใจและกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น จึงเชื่อว่าในอีก 2 ปีเมื่อโควิด-19 จบลงการลงทุนจะกลับสู่ภาวะปกติ คาดจะมียอดขอรับไปได้ถึง 700,000 ล้านบาท