ครม.เห็นชอบตั้ง “ภูสิต” ขึ้นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

ครม. เห็นชอบตั้ง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผอ.สนค ขึ้นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมงานล่าสุด สนค.ชี้ “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” แนะผู้ผลิตเดินหน้า เพิ่มโอกาสในการค้าขาย ชี้เป้าผลิตภัณฑ์ย่อยสลาย ใช้ซ้ำได้

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า วันที่ 30 ส.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณราชการ คือ นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

เดิมนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นทูตพาณิชย์ที่นิวยอร์ก สหรัฐ เป็นผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จากนั้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และตำแหน่งล่าสุดคือ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ล่าสุด นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดโลกมีความต้องการ “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนเริ่มเห็นผลกระทบจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การบริโภคทรัพยากรต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากและทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อนจากการเผาขยะ ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในน้ำและดิน เป็นต้น

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ผลิตภัณฑ์สีเขียว ที่ผลิตภายใต้หลักการ 4R ได้แก่ Reduce (การลดปริมาณของเสีย) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) และ Repair (การซ่อมแซม) กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาข้างต้นได้ เพราะไม่เพียงเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เท่านั้น แต่ยังต้องเกิดจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก่อให้เกิดมลภาวะด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว ที่กำลังเป็นที่ต้องการ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารรักษ์โลกที่ผลิตจากเยื่อพืชธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ โดยไม่ทิ้งมลพิษหรือสารเคมี รวมถึงถุงที่ผลิตจากมันสำปะหลังที่ใช้แทนถุงพลาสติกได้เป็นอย่างดี 2.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า กระบอกน้ำ แก้วน้ำแบบพกพา และกล่องข้าว ซึ่งตอบโจทย์ด้านการลดใช้พลาสติก รวมไปถึงกล่องโฟม

เพราะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และ 3.รูปแบบอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) รถยนต์ Hybrid อาคาร บ้าน ที่พักอาศัย ที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น ออกแบบให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือออกแบบให้รับแสงธรรมชาติได้เต็มที่ เพื่อประหยัดไฟ เป็นต้น

นายภูสิต กล่าวว่า นอกจากการผลิตผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อช่วยลดขยะและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีแนวโน้มใหม่ ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้ายังควรให้ความสำคัญกับประเด็นความโปร่งใสในการผลิต และการลงทุนในงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีความยั่งยืนมากขึ้น

ในขณะที่ยังสามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายในการบริโภคและอุปโภคสินค้าได้เหมือนเดิม ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลง เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดปริมาณขยะ ลดการบริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งประหยัดพื้นที่จัดเก็บและขนส่ง และใช้บรรจุภัณฑ์ปลอดภัยต่อสินค้า เพื่อรักษาความปลอดภัยในการขนส่ง โดยใช้วัสดุที่มีความสามารถในการควบคุมคุณสมบัติของวัสดุนั้น ๆ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพไป

และเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการทั้งในไทยและอาเซียน เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนค. โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง มีกำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการและกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ในหัวข้อ “The Future for Sustainable Eco-Packaging” (Webinar) ขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2564

โดยมีประเด็นสำคัญที่จะนำมาพูดคุย ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์และสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการปรับใช้และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกมากขึ้น อาทิ โอกาสและความท้าทายในตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ และห่วงโซ่การผลิตของโลก เป็นต้น

งานสัมมนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจากวิทยากรของหน่วยงานชั้นนำ อาทิ Mr.Jarred Neubronner (Senior Research Analyst, Euromonitor International) ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ (รองประธาน ฝ่ายพัฒนาการตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) คุณจิรพัฒน์ ฐานสันโดษ (บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด) Mr.Karan Chechi (Research Director, TechSci Research) ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.fsecopack.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวนลนีย์ จันทะกูฏ โทรศัพท์ 090-319 0369 หรือ [email protected]