ชง “จุรินทร์” เคาะแผนฟื้นฟูเยียวยา-ยกเครื่องการเลี้ยงสุกรไทยหลังโรคระบาด

ชง “จุรินทร์ ” ประธานคณะกรรมการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกา ไฟเขียวโครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อย “สภาเกษตรกรฯ“ หนุนกองทุนช่วยเหลือผู้เลี้ยง 1 พันล้าน พร้อมขอร่วมบริหารแบบภาคีเครือข่าย

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ตามที่ “ประชาชาติธุรกิจ”  ได้เสนอข่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ.6403) ปรากฏทางคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 กำหนดให้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน (Good Agricultural Practices : GAP) เป็น “มาตรฐานบังคับ” ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูรายกลาง-ใหญ่จำนวน 4,768 ฟาร์ม หรือคิดเป็นร้อยละ 61.9 ของจำนวนฟาร์มหมูทั้งประเทศ (7,314 ฟาร์ม) ไปนั้น

ล่าสุด นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกร ครั้งที่ 4/2564 ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ ทำข้อเสนอเชิงนโยบายในโครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน

โดยกำหนดมาตรการ 3 ระยะ แบ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที อาทิ เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ด้วยทุนประเดิมงบประมาณอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ซึ่งทางสภาฯ ต้องการให้การบริหารกองทุนดังกล่าว เป็นแบบภาคีเครือข่าย ความร่วมมือ หรือประกอบไปด้วย นักวิชาการ ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรและรัฐบาล

“สภาเกษตรฯ ไม่เห็นด้วยที่กองทุนดังกล่าวจะบริหารงานผ่านราชการเพียงหน่วยงานเดียว อยากให้กองทุนนี้บริหารงานแบบอิสระ เพื่อให้เกษตรกรฯ ที่ได้รับความเดือดร้อนในแต่ละช่วงเวลา อาทิ ราคาสุกรตกต่ำ หรือพบการแพร่ระบาดหนักในสุกร ก็สามารถนำเงินในกองทุนนี้มาช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้นได้รวดเร็วกว่าการรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่กว่าจะทราบปัญหาอาจกินเวลาไปถึง 2-3 ปี อีกด้วย ดังนั้น จึงอยากให้มีการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป”

ขณะที่มาตรการระยะปานกลางภายใน 3 ปี ได้แก่ การเร่งรัดให้กรมปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ หรือสร้างเครือข่ายการชันสูตรโรคกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ในการเคลื่อนย้ายและควบคุมโรค สนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ ระบบ Precision agriculture ที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละระดับรวมถึงการวิจัยวัคซีน และชีวภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์

และมาตรการระยะยาว กำหนดให้ดำเนินการภายใน 5 ปี ได้แก่ การกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ภาคเอกชน หรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียนโดยอาจอยู่ในรูป 4 P ได้แก่ Public Private Professional และ People Partnership

นอกจากนี้ อยากให้ผู้เลี้ยงสุกรเข้าถึงการประกันภัยสุกร ทั้งสุกรขุน และพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งหลังจากได้คุยกับทางสมาคมวินาศภัย และคณะกรรมการประกันภัย ทุกฝ่ายเห็นตรงกันแต่ยังมีบางอย่างที่ต้องเล็กน้อย โดยเรื่องนี้ก็จะมีการเสนอไปยังรัฐบาลให้รับทราบเช่นกัน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการประกันภัยสุกรสักระยะเวลาหนึ่ง ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดคงจะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง อาจจะใช้ลักษณะเดียวกันกับการประกันข้าวนาปี แต่ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกร หรือปศุสัตว์ประเภทอื่น ๆ ในระยะยาวเกินไป อยากให้กำหนดเวลาในการช่วยเหลือและลดการช่วยเหลือลงมาเรื่อยๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ เกษตรกรรายย่อยเองสามารถพึ่งพาตัวเองและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในที่สุด

“โครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาชีพแก่เกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารของประเทศไทย ที่ประชุมฯ จึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และจากนี้จะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ พร้อมทั้ง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป”

นายประพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นผลมาจากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกร อาทิ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เกษตรกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรคถึงปีละ 30% และไม่สามารถเลี้ยงสุกรต่อไปได้ เนื่องจากเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่ และในอนาคตอาจถึงขั้นต้องสูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกรไปในที่สุด ซึ่งมูลค่าความเสียหายโดยรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท/ปี


อีกทั้งการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ในสุกรยังส่งผลเสียต่อโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกร ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาท/ปี