“สุพัฒนพงษ์” จ่อรับรอง AIFF ไฟเขียวลงทุนอาเซียนฉลุย

การลงทุนอาเซียน

ครม.ไฟเขียว “สุพัฒนพงษ์” รับรอง ร่างกรอบการอำนวยความสะดวกการลงทุนอาเซียน “AIFF” ในที่ประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน “AEM-24th AIA Council Meeting” 8 ก.ย.นี้ หวังดูดการลงทุนหลังโควิด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ร่าง AIFF ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย อนุมัติให้ สกท.พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก

โดยให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรอง AIFF แบบไม่มีการลงนามทางสำนักงานแจ้งเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) จะเป็นผู้ร่วมให้การรับรองเอกสารดังกล่าว

ซึ่งจะมีการพิจารณาร่าง AIFF ในการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24 (ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting : AEM-24th AIA Council Meeting) ในวันที่ 8 กันยายน 2564

จากที่บรูไนในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 กำหนดจัดทำกรอบ AIFF เป็นหนึ่งในประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันให้สำเร็จในปี 2564 และที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment : CCI) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาของร่าง AIFF ร่วมกันแล้ว

เห็นว่า ร่าง AIFF จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งร่างนี้มิได้ระบุถ้อยคำที่มุ่งหมายให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย เสนอต่อที่ประชุม AEM-24TH AIA Council Meeting ครั้งนี้ เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบในเนื้อหาร่วมกันและพิจารณารับรอง (ไม่ลงนาม)

ร่าง AIFF ได้ให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการและขยายการลงทุนและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19

พร้อมกันนี้ ร่างนี้ยังมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน มีสาระสำคัญครอบคลุม 11 หัวข้อ ได้แก่

1) ความโปร่งใสของมาตรการและข้อมูล

2) การปรับปรุงและเร่งรัดขั้นตอนการปฏิบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ

3) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต

4) แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ

5) บริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน

6) ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีอำนาจ

7) การเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุน

8) การอำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสนับสนุนการลงทุน โดยช่วยเหลือผู้ลงทุนในการบ่งชี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น แรงงาน แหล่งเงินทุน ผู้ผลิตภายในประเทศ และโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

9) กลไกการให้คำปรึกษาสำหรับนโยบายการลงทุน

10) ความร่วมมือต่าง ๆ เช่น อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น

และ 11) การดำเนินการตามกรอบ AIFF ฉบับนี้ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ CCI ทราบอย่างสม่ำเสมอ