“ค้าปลีก” ยืดโปรขายกุ้ง 1 เดือน อุ้มผู้เลี้ยง ผลผลิตทะลัก 3 แสนตัน

กุ้งขาว

ห้างยืดเวลาจัดโปรโมชั่นจำหน่าย “กุ้ง” ราคาถูกอีก 1 เดือน อุ้มเกษตรกรต่อถึงสิ้น ส.ค.หลังโควิดถล่มส่งออกหด ผลผลิตทะลัก 3 แสนตัน ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานีผนึกสหกรณ์ผู้เลี้ยงลุ่มน้ำท่าทอง-เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งร้องพาณิชย์รับมือ

รายงานจากกรมการค้าภายในระบุว่า ตามที่ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด และเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย มีหนังสือขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ประสบปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว และการบริโภคในประเทศมีปริมาณลดลง ประกอบกับผลผลิตกุ้งในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2564 จะออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามคาดการณ์ของกรมประมงคาดว่าไทยจะผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน

ทางกรมการค้าภายในจึงได้ประชุมร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชน ผู้แทนจากชมรม สหกรณ์ และเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อหาทางออก โดยได้วางแนวทางดำเนินการ เพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายในประเทศ เป้าหมาย 2,000 ตัน ซึ่งเชื่อมโยงกุ้งผ่านกลไกสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแหล่งผลิต-จังหวัดแหล่งบริโภค 500 ตัน และเชื่อมโยงผ่านห้างค้าปลีก-ค้าส่งทั้ง makro, Lotus, Big C, Tops และ THE MALL 1,500 ตัน

พร้อมทั้งส่งเสริมการบริโภคกุ้งให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2564 ผ่านห้างค้าปลีก-ค้าส่ง โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคกุ้งผ่านห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 30 ครั้ง ระยะเวลามิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ล่าสุดเมื่อสิ้นสุดโครงการในเดือน กรกฎาคม 2564 พบว่ามีการจำหน่ายไปแล้วปริมาณ 1,517 ตัน มูลค่ารวม 302.1 ล้านบาท

“แม้กิจกรรมส่งเสริมการบริโภคกุ้งของกรมการค้าภายในร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการ ผู้เลี้ยงห้างสรรพสินค้า จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ห้างสรรพสินค้ายังคงจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น แม็คโคร ขยายเวลานำกุ้งขนาด 41-49 ตัวต่อ กก. จัดโปรโมชั่นราคา กก.ละ 229 บาท จากปกติ 235 บาท ต่อเนื่องถึง 31 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ช่วยเหลือเกษตรกรและช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าดี ราคาถูก และมีคุณภาพ”

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้เลี้ยงภาคใต้ได้ยื่นหนังสือขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ที่ประสบปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว และการบริโภคในประเทศมีปริมาณลดลง ประกอบกับผลผลิตกุ้งในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2564 จะออกมาเป็นจำนวนมาก

ซึ่งตามคาดการณ์ของกรมประมงคาดว่าไทยจะผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสรรงบประมาณโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2564 ด้วยกิจกรรมการเพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้ง ทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และสนับสนุนค่าชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรในอัตรากิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท

และสนับสนุนค่าบริการจัดการในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาด อาทิ ค่าจัดการด้านขนาดและคุณภาพค่าเก็บรักษา ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง เป็นต้น ให้แก่ผู้รวบรวมและกระจายกุ้งสู่ตลาดภายในประเทศที่เข้าร่วมโครงการในอัตรากิโลกรัมละไม่เกิน 10 บาท ส่งผลให้สามารถช่วยพยุงราคากุ้งให้ขยับขึ้นได้ในช่วงที่คาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และห้องเย็นยังรับซื้อตามปกติ

โดยมาตรการดังกล่าวมีการเฉลี่ยจัดสรรกันไปทุกภูมิภาค โดยได้รับการช่วยเหลือจังหวัดละประมาณ 100 ราย รวมงบฯ 60 กว่าล้านบาทโดยประมาณสำหรับผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ แม้ขณะโครงการสิ้นสุดแล้ว แต่บางจังหวัดก็เพิ่งเริ่มตามโปรโมชั่นของห้างค้าปลีกแตกต่างกันไป

ส่วนสถานการณ์ผลผลิตขณะนี้ต้องบอกว่าส่วนใหญ่เป็นการส่งออก จึงกระทบเล็กน้อยเพียงช่วงแรกที่มีการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ขณะนี้ราคาขยับขึ้น โดยตามโครงการกระทรวงพาณิชย์มีการกำหนดราคาที่รับได้ในการซื้อขาย ได้แก่ กุ้งขาว (40 ตัว/กก.) ราคา 230-240 บาท/กก., กุ้งขาว (60 ตัว/กก.) ราคา 180-190 บาท/กก., (50 ตัว/กก.) ราคา 200 บาท ถือว่าเหมาะสมกับต้นทุน

ประกอบกับหากพิจารณาโครงการที่ช่วยส่วนต่างดังกล่าว ก็ยังถือว่าทำให้เกษตรกรยังสามารถลดภาระต้นทุนและไปต่อได้ และยังเป็นการเพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้ง และส่งเสริมการบริโภคในประเทศ จากผลกระทบมาตรการล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการบริโภคทั้งในและต่างประเทศค่อย ๆ ฟื้น สำหรับในประเทศเกษตรกรปรับการเลี้ยงในช่วงที่คาดว่าจะมีปริมาณมาก หน่วยงาน ผู้ประกอบการปรับตัวจากการระบาดที่ตลาดกลางมหาชัยในช่วงต้นปีอย่างรวดเร็ว จึงบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรได้ดีจากการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตล้นตลาด และมาตรการคลายล็อกดาวน์ก็น่าจะกลับมาปกติ

“ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น ห้องเย็นรับซื้อตามปกติ แตกต่างจากช่วงที่เกิดสถานการณ์ล็อกดาวน์แรก ๆ ที่หยุดรับซื้อไป ชะงักไปเลย ประสบการณ์ครั้งนั้นเราก็ได้คุยกับห้องเย็นถึงแนวทางในอนาคต เพราะถ้าย้อนไปช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ส่งผลกระทบให้ตลาดกลางกุ้งมหาชัยถูกปิดตัวลง และประชาชนไม่กล้ารับประทานอาหารทะเล แต่ระลอกนี้ต้องยอมรับว่าทุกคนปรับตัวเร็ว ทั้งประชาชนเอกชนเองตอนนี้ก็ถือว่าคนซื้อไปประกอบอาหาร แม้อยู่ในช่วงล็อกดาวน์ การจัดโปรโมชั่นราคา กก.ละ 229 บาท จากปกติ 235 บาท ถือว่าไม่ได้ขาดทุน ก็ยังพอไปได้ตามขนาดไซซ์”