“สรรเสริญ” ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รับรอง 9 แผนงาน

สรรเสริญ

พาณิชย์ เตรียมร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 53 ผ่านระบบทางไกลเดือนกันยายนนี้ เตรียมรับรองเอกสารสำคัญหลายฉบับ พร้อมเร่งหารือความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค  เพื่อยกระดับการค้า-การลงทุน 

วันที่ 1 กันยายน 2564  นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8-15 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

โดยการประชุมในครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา รวมทั้งจะร่วมรับรองเอกสารสำคัญ ก่อนเสนอต่อผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคมนี้

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมรับรองและเห็นชอบเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น (1) กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (2) แผนงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน (3) แผนงานในการดำเนินการตามความตกลงอีคอมเมิร์ซของอาเซียน (4) เครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก

(5) แผนงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐอเมริกา และการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2564-2565 (6) แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ปี 2564-2565 (7) แผนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย (8) แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง

(9) แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 เป็นต้น และในส่วนของการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะให้ความเห็นชอบการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกันให้ครอบคลุมสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรบางรายการ

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว อาเซียนจะประชุมหารือกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศนอกภูมิภาคอีก 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น (1) แนวทางการเปิดเสรีสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน

(2) การเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (3) การหาข้อสรุปเกี่ยวกับขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (4) ข้อเสนอญี่ปุ่นเรื่องการเติบโตด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

(5) การสมัครเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ของชิลี และ (6) การต้อนรับสหราชอาณาจักรที่ประชุมร่วมกันในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเป็นครั้งแรก ดร. สรรเสริญ กล่าวเสริม

ดร. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนอาเซียน หรือ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) อีกด้วย นับเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิค-19

ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและได้ดำเนินการในปี 2564 เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและการเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชนเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19

ประเด็นจากการประชุมในครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ รักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการขยายตัวทางการค้าและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยเฉพาะในภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19

รวมทั้งจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของอาเซียน ตลอดจนเป็นการส่งสัญญาณที่ดีของอาเซียนต่อประชาคมโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดร. สรรเสริญ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีมูลค่าสูงถึง 54,765.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.26% โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 31,652.03 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 23,113.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์