“เฉลิมชัย” ยันเทขายยางสต๊อกรัฐ 104,000 ตัน สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้

เฉลิมชัย แจงยิบระบายยางสต๊อกรัฐ 104,000 ตัน สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้ ย้ำหลักการประมูลไม่กระทบราคายางในตลาด ลั่นหากถ้าไม่ถูกต้อง ก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศ ก็ไม่เอา 

วันที่ 3 กันยายน 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจง ญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ว่า ประเด็นยางพาราและการระบายยางในการประชุมทุกครั้งจะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้ โดยต้องเป็นมติของที่ประชุม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการยาง 2558 โดยมีบอร์ดการยางฯเป็นผู้ออกนโยบายกำกับดูแล อนุมัติในกิจกรรมของการยางแห่งประเทศไทย รวม 14 ท่าน และจะมีมติได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมส่วนใหญ่ถือเป็นเอกฉันท์ เป็นความรับผิดชอบร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยหากย้อนไปในขณะที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันเดือนกรกฎาคมปี 2562 และรัฐบาล แถลงนโยบายประกันรายได้ราคาพืชผลการเกษตร 5 ชนิด ซึ่งยางพาราเป็น 1 ในสินค้า 5 ชนิด ที่รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการประกันว่าจะมีการรายได้ขั้นต่ำที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยพี่น้องคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ถ้าเกษตรกรมีความเข้มแข็งประเทศชาติก็มีความเข้มแข็งด้วย ถ้ามีรายได้ที่มั่นคงประเทศชาติก็จะมั่นคงด้วย จึงเชื่อว่าวันที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศนโยบายประกันรายได้ เกษตรกรมีความสุขและยิ้มได้ทั้งประเทศ และจะเป็นครั้งเดียวที่ได้มีโอกาสได้รับหน้าที่ในการดูแลภาคการเกษตรจากรัฐบาลอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเมื่อมีนโยบายประกันรายได้แล้วจะไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ราคายางเป็นไปตามยถากรรม  แต่เราทำทุกวิถีทางเพราะเราเข้าใจว่าเกษตรกรไทยคือหัวใจของชาติ กระทั่งราคายางพารารัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างจนเรามาประสบวิกฤตโควิด-19 ซึ่งภาวะวิกฤตนี้มีผลกระทบไปทั่วโลก ทุกประเทศ ทุกสาขาอาชีพ ภาคการเกษตรเองก็เช่นกัน และย้ำว่าได้มีการบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ ร่วมกัน ตั้งแต่วันที่เข้ามากำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดังนั้น จึงมีหน้าที่กำกับมอบนโยบาย และไม่มีหน้าที่เซ็นอย่างใดอย่างหนึ่งโดยพลการ อีกทั้งได้ให้นโยบายทำงานอย่างสุจริตไม่ผิดกฎหมาย และกำชับอีกว่าถ้า กยท.ท่านทำในสิ่งที่ถูกต้อง พร้อมจะปกป้องท่าน แต่ถ้าท่านทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตนจะดำเนินการกับท่านโดยเด็ดขาด

กรณี เรื่องของยางพารา 104,000 ตัน มียางพาราอยู่ในสต๊อก 104,000 ตัน ซึ่งหากเก็บไว้จะเสียค่าเช่าโกดังโดยมีค่าประกันภัยจะได้รับการชดเชย ซึ่งสัญญาทุกปีจะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี และเริ่มต้นมิถุนายน การยางแห่งประเทศไทยจึงทำสัญญาเช่าเริ่มตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยการซื้อยางเข้าสู่สต๊อก เพื่อให้ยางในตลาดมีปริมาณน้อยลง เพื่อรักษาเสถียรภาพ เพราะขณะนั้นราคายางตกต่ำมาก จาก กิโลกรัมละ 180 บาทเหลือ 90 บาท จนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 จึงรับซื้อยางเข้ามา ปริมาณทั้งหมด 213,492 ตันในราคาเฉลี่ย 98.96 บาทต่อกิโลกรัม งบประมาณ 22,782 ล้านบาท และในปี 2557 มีโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราเพื่อให้ยางในตลาดขณะนั้นมีราคาไม่ตกต่ำจนเกษตรกรไม่มีจะกิน ไม่มีรายได้

ดังนั้น เหตุที่ซื้อยางสต๊อกทั้ง 2 ครั้ง ปี 2555 กับ 2557 เพื่อตัดปริมาณยางในตลาดรักษาเสถียรภาพราคายางเมื่อมีการนำยางเข้ามาในสต๊อก มีการระบายยางโดยครั้งแรกในปี 2557 มีการลงนามสัญญา 278,000 ตัน เมื่อทำสัญญาแล้วราคายางตกลงอย่างมากบริษัทรับยางเพียง 37,602 ตัน เนื่องจากราคาตกมากจึงไม่ได้รับครบจึงนำไปสู่การกำหนด TOR ในการประมูล

ต่อมา การประมูลครั้งที่ 2 ประมูลในรอบปี 2559-2560 ซึ่งเป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพแยกโกดัง ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพหากพอใจโกดังไหนที่ประมูลโกดังนั้น พ่อค้าก็เลือกยางคุณภาพไปหมด กระทั่งการประมูลครั้งที่ 2 เหลือยางในสต๊อกจนถึงปัจจุบัน 104,000 ตันเศษ 9 ปีเต็ม เป็นยางที่ถูกคัดเลือกของดีไปเรียบร้อยแล้ว ยางในสต๊อกนี้จึงเป็นฝันร้ายของพี่น้องเกษตรกร จนมาถึงช่วงที่ได้เข้ามารับตำแหน่งจึงได้มาช่วยคลายล็อกให้พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องฝันร้ายต่อไปอีก และจะได้ไม่มีข้อครหาว่ายางในสต๊อกเป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่มกดราคา อ้างว่ายางไม่ขาดมีในสต๊อก ทั้งที่ยางในสต๊อกไม่มีสภาพที่พร้อมใช้แล้ว

โดยเป็นที่ทราบดีว่า ยางแผ่นดิบปกติเก็บ 6 เดือนสีก็เปลี่ยน ระหว่างปี 2555-2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเข้ามาในสต๊อก ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพาราใช้เงินทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท และปี 2559 ถึงปี 2564 ยาง ค่าใช้จ่ายรวมกัน 925 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบรายจ่ายการยางแห่งประเทศไทยจากเงินกองทุนพัฒนายางพาราซึ่งใช้ดูแลพี่น้องชาวเกษตรกร จึงเป็นฝันร้ายที่ 2 ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

โดยล่าสุด ช่วงปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการยางธรรมชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ระบายยางในสต๊อกนี้ให้หมดโดยเร็ว และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยให้แนวทางการระบาย ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนัก เมื่อ ครม.ได้รับทราบ ตนในฐานะกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย ให้นโยบายการยางแห่งประเทศไทยในการระบายยางในสต๊อก โดยมีหลักการ

1.ให้การยางแห่งประเทศไทยดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด 2.พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ 3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐเพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน 4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ และที่เน้นย้ำที่สุดคือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด 

ส่วนการแต่งตั้งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ส่วนตัวไม่สามารถปลดใครหรือแต่งตั้งใครเข้ามาได้ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการบอร์ดคอยกลั่นกรอง ไม่มีอะไรบิดพลิ้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้ และตนเองก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องงบการดุล เพราะไม่ทราบว่าบริษัทไหนจะประมูลได้ จึงขอความเป็นธรรมให้ด้วย เพราะไม่ทราบว่ามีที่มาหรือที่ไปอย่างไร อีกทั้งหากบริษัทดังกล่าวดำเนินการตามกฎหมาย ก็ต้องอนุมัติ ซึ่งบริษัทดังกล่าวยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. คอยตรวจสอบ

“ถ้าเขาทำทุจริตผิดกฎหมายผมไม่ละเว้นอยู่แล้วและนอกจากผมไม่ละเว้นแล้วยังมีหน่วยงานมากมายที่รอการตรวจสอบท่านสามารถฟ้องได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกต้องผมก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศผมก็ไม่เอา จึงยืนยันว่าไม่มีเรื่องการทุจริต และพร้อมให้หน่วยงานทุกหน่วยงานตรวจสอบ ทุกอย่างที่ทำเป็นการสุจริตในการทำงาน อีกทั้งส่วนตัวไม่มีความลำบากใจในการทำงานกับคณะรัฐมนตรีชุดนี้“

นอกจากนี้ ประเด็นลัมปีสกิน ได้เร่งรัดแก้ไขโดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรอย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังมีมาตรการชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง