ฟู้ดอินโนโพลิสผนึก สวก.-ศิลปากร เปิดศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต หวังเป็น one stop service!

ฟู้ดอินโนโพลิสผนึก สวก.- ม.ศิลปากร เปิดศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต หวังเป็น one stop service ด้านวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพิ่มความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทย ผู้ประกอบการแห่ร่วมงานเกือบ 500 ราย “อรรชกา” ชี้ นวัตกรรมอาหารเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 100 เท่า เผยตัวเลขปี 59 เอกชนลงทุนวิจัยด้านอาหารทะลุ 12,000 ล้าน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน“Food Innopolis Open house: Future Food Lab” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับ SMEs ด้วย Future Food Lab” ว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนประเทศในยุคของประเทศไทย 4.0 และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาการส่งออกอาหารของไทยมีมูลค่าสูงถึง 9.7 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 12.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 12 ของโลก ในการส่งออกอาหาร สำหรับในปี 2560 นี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สินค้าอาหารของเราหลายรายการ จะมีมูลค่าการส่งออกอยู่ใน 5 อันดับแรกในตลาดโลก เช่น ข้าว ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องปรุงรส แต่ถ้าเรายังเน้นการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในรูปของวัตถุดิบและการแปรรูปขั้นต้น ในอนาคตอุตสาหกรรมอาหารไทยจะไม่สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดสากล โดยเฉพาะในยุคที่พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารไทยต้องเร่งปรับตัว นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

“จากการสำรวจข้อมูลการวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน ประจำปี 2559 พบว่าภาคเอกชนลงทุนวิจัยพัฒนารวมทั้งสิ้นประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอาหารมีการลงทุนวิจัยพัฒนาสูงสุดในภาคการผลิตของประเทศ คือประมาณ 12,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค โดยนวัตกรรมอาหารจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 เท่า และบางผลิตภัณฑ์อาจเพิ่มมูลค่าได้กว่า 10 เท่า หรือ100 เท่า เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหาร พร้อมทาน อาหารฮาลาล อาหารที่เน้นประโยชน์เฉพาะ อาหารเสริมหรืออาหารที่มีผลในเชิงรักษาโรค และสารสกัดจากวัตถุดิบอาหาร ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการที่ทั้งสามหน่วยงานจะเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการอาหารในทุกระดับและครบทุกมิติ เป็นการตอบโจทย์ประเทศภายในนโยบายประเทศไทย 4.0” ดร.อรรชกา กล่าว

ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต (Future Food Lab) ดำเนินงานในลักษณะ one stop service ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยทั้งสามหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการได้แก่ เมืองนวัตกรรมอาหาร ให้การสนับสนุนพื้นที่สำหรับดำเนินงาน อำนวยความสะดวกในการทำวิจัย ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาด มหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนทีมวิจัยและคณะทำงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหาร และสวก. สนับสนุนทุนวิจัยสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งนี้เมืองนวัตกรรมอาหาร ได้ตั้งเป้าหมายจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคเอกชนได้ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ในระยะเวลา 5 ปี

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเปิดงานได้มีการลงนามความร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการอาหารแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีผู้ประกอบการด้านอาหารสนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 ราย