ชงของบฯ รื้อแผนบริหารจัดการน้ำ “นิคมอุตสาหกรรม”

น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม

“กนอ.” ระดมทำแผนจัดการน้ำรับมือทั้งระยะสั้น-ยาว แง้มแผนแก้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปู-บางพลี จ่อของบฯสร้างคลองเชื่อมออกทะเล เคลียร์พื้นที่ชุมชนขวางทางระบาย ด้านแผนน้ำแล้งล่าสุดลงนามสัญญาซื้อน้ำจากเอกชน 25 ปี ลอตแรก 215,000 ลบ.ม. ป้อนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-แหลมฉบังรับความต้องการน้ำยังโต 1% น้ำต้นทุนไม่มีคุณภาพและไม่พอ พร้อมขายน้ำให้ผู้ประกอบการราคาถูกกว่าปกติ 10%

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน

วีริศ อัมระปาล
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู และนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เบื้องต้น กนอ.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการชุมชน โดยจะรวบรวมข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการวางแนวทางแก้ปัญหา เช่น ทางระบายน้ำที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยมีการตั้งชุมชนโดยรอบ มีการถมคลองอาจขวางทางระบายน้ำทำให้การระบายน้ำออกสู่ทะเลไม่ได้

“เราจะดูว่าแผนปัจจุบันพอไหม หรือต้องสร้างคลองขนส่งน้ำเพื่อให้เชื่อมระบายออกทะเลเร็วขึ้น ถึงรู้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงต้องของบฯ เราก็จะลองขอว่าจะได้หรือไม่ ถ้ามันช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในนิคมและชุมชน เพราะเราต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบระยะยาว”

ส่วนแผนแก้การขาดแคลนน้ำ ระยะแรกจะมุ่งไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งพบว่ามีความต้องการใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน เกษตร รวมทั้งหมด 2,190.98 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นส่วนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 625.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ต้นทุนน้ำในปัจจุบันมีปริมาณเพียง 1,537.59 ล้านลูกบาศก์เมตร

และได้มีการคำนวณความต้องการน้ำในอนาคตจากอุตสาหกรรมและเมืองที่ขยายตัว จึงคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็น 2,481.31 ล้านลูกบาศก์เมตร อีก 10 ปีเพิ่มเป็น 2,615.63 ล้านลูกบาศก์เมตร และอีก 20 ปีจะสูงถึง 2,722.79 ล้านลูกบาศก์เมตร แสดงถึงความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในอนาคต

โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญหลักอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งมีผู้ประกอบการโรงงานเปิดดำเนินการแล้วกว่า 300 โรงงาน และในปี 2564 คาดปริมาณการใช้น้ำในนิคมทั้ง 2 แห่งสูงถึง 238,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 7,140,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน มีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละ 1%

“กนอ.จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากเดิมที่มีแหล่งน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างบางพระ อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ สำหรับผลิตน้ำประปาโดยบริษัท East Water จำกัด (มหาชน) ล่าสุดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับทางบริษัท วาย.เอส.เอส.พี. แอกกริเกต จำกัด เป็นเวลา 25 ปี สามารถขายน้ำให้กับผู้ประกอบการในนิคม ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม 10%”

ในระยะถัดไปจะหาแหล่งน้ำและซื้อน้ำจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทำให้ต้นทุนถูกลงอีก และยังป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ภาคการผลิตไม่สะดุด และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นความมั่นคงด้านน้ำให้กับนักลงทุน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในไทยเพราะความพร้อมที่มี

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมบางปูหลังฝนตกหนักส่งผลให้น้ำท่วมสูงจนพนักงานและรถไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ เบื้องต้นจะมีการดูแลในด้านอื่นที่ไม่ใช่การยกเว้นค่าธรรมเนียม และที่สำคัญ กนอ.จะต้องเร่งสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมภายใต้สภาวะแวดล้อมปัจจุบันมากกว่า