โควิดระลอกใหม่ถล่ม “เวียดนาม” เข้ม “ซัพพลายเชน-โลจิสติกส์”

เวียดนาม

โควิดถล่มเมืองเศรษฐกิจเวียดนาม “ทุนไทย” ตั้งรับล็อกดาวน์เมืองเศรษฐกิจยาวถึง 15 ก.ย. สภาธุรกิจฯชี้มาตรการเข้มกระทบซัพพลายเชนสะดุด-ระบบโลจิสติกส์เดี้ยง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเวียดนามระลอกใหม่ค่อนข้างรุนแรงและกระจายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์และจังหวัดข้างเคียงซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของเวียดนาม

ทางรัฐบาลเวียดนามได้ออกมาตรการที่เข้มงวด มีการสั่ง lockdown ในหลายเมืองโดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่อาจควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้รัฐบาลจึงได้ขยายเวลา lock down ต่ออีก 15 วันจนถึง 15 กันยายน ตามโรงงานต่าง ๆ ต้องจัดหาที่พักค้างแรมให้กับคนงานเพื่อลดการเดินทาง หากไม่สามารถจัดหาที่พักได้ ต้องปิดโรงงานชั่วคราวจนกว่าจะอนุญาตให้เปิดได้ส่งผลกระทบต่อ supply chain เป็นอันมาก

ส่วนระบบ logistic ก็ประสบอุปสรรค เพราะมีการควบคุมเข้มงวดในการขนส่งข้ามจังหวัด พนักงานขับรถต้องมีการตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อทุก ๆ 3 วัน การขนส่งทางเรือก็มีปัญหา เพราะจำนวนเรือมีจำกัด ท่าเรือเต็มไปด้วย container ที่รอการลำเลียงขึ้นเรือ ปัญหาหลักอยู่ทางภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ของเวียดนาม

“ธุรกิจของไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีคนงานจำนวนหลายพันคนต่างประสบปัญหาต้องปิดโรงงาน เพราะไม่อาจจัดหาที่พักให้คนงาน ธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงงานแปรรูปอาหาร หรือธุรกิจด้านบริการ เช่น ร้านอาหารไทย หรือร้านกาแฟต้องปิดให้บริการจนถึง ปัจจุบัน ต้องรอให้รัฐบาลอนุญาตให้เปิดใหม่”

ทั้งนี้ ภาพรวมการลงทุนของไทยในเวียดนามช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ลงทุน 23 โครงการ จำนวนทุนจดทะเบียน 238 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 7 เดือนแรกปี 2563 ลงทุน 19 โครงการ ทุนจดทะเบียน 1,587 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากเทียบกับปีก่อนโควิด พบว่า 7 เดือนแรกปี 2562 ลงทุน 22 โครงการ ทุนจดทะเบียน 513 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งหากรวมการลงทุนจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 นักธุรกิจไทยลงทุนในเวียดนามทั้งสิ้น 626 โครงการ จำนวนเงินจดทะเบียนทั้งสิ้น 12,784 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนมากเป็นอันดับที่ 9 ธุรกิจหลักของไทยที่ไปลงทุน เช่น โครงการ petrochemical ของ SCG Group ผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษวัสดุก่อสร้าง ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต อุตฯสีทาบ้าน และพลังงานไฟฟ้าทางเลือก เช่น พลังงานลม โซลาร์เซลล์ อุตฯสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนิคมอุตฯ เป็นต้น

“จากสถิติของเวียดนาม การลงทุนของไทยในเวียดนาม สามารถสร้างตัวเลข GDP 4% ของเวียดนาม และจำนวนการจ้างงานทั้งสิ้นประมาณ 90,000 คน”

ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนไทยตัดสินใจลงทุนในเวียดนาม เป็นผลจาก 5 ปัจจัย คือ

1) การเมืองเวียดนามมีความมั่นคง รัฐบาลมีเสถียรภาพ

2) มีแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงที่ต่ำกว่าของไทย

3) ประชาชนมีกำลังซื้อสูง เพราะมีชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่มีงานทำ

4) มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยเฉพาะวัตถุดิบทางการเกษตร ค่าสาธารณูปโภคต่ำกว่าไทย นอกจากนั้นรัฐบาลยังให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติ

และ 5) มีข้อตกลงทางการค้า FTA กับประเทศต่าง ๆ ครอบคลุมกว่า 54 ประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศในกลุ่ม EU และล่าสุดกับสหราชอาณาจักร จึงเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนไทย ที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศที่มี FTA กับเวียดนาม

นายสนั่นกล่าวว่า อย่างไรก็ตามในปีนี้ภาพรวมการสานต่อความสัมพันธ์ 45 ปี ไทย-เวียดนาม ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน และยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เมื่อปี 2556 และ 5 ปีต่อมาได้ยกระดับเป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง

ในวาระครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ทางสภาธุรกิจฯได้แต่งตั้งคณะทำงานกิจกรรม ฉลองวาระ 45 ปี และก่อนหน้านี้ได้ดำเนินโครงการบูรณะภูเขาจำลอง ณ อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ในจังหวัดนครพนม และส่งมอบให้คณะกรรมการจัดงานกิจกรรมรำลึก 131 ปี วันคล้ายวันเกิดประธานโฮจิมินห์ และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 และเมื่อวันที่ 24-27 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ Central Group จัดงาน Vietnamese Trade Fair 2021 ที่จังหวัดอุดรธานี

“ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ผมเข้าร่วมสัมมนาทางออนไลน์ จัดโดยสถานทูตไทยในเวียดนาม ร่วมกับสถานทูตเวียดนามในประเทศไทยในวาระครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม พร้อมจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกในโอกาส 45 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ร่วมกับทางสถานทูตเวียดนามในประเทศไทย นอกจากนี้ในปลายปีนี้อาจจะมีกิจกรรมอื่นเพิ่มเติม หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น”

พร้อมกันนี้ ประเด็นการจัดตั้งสภาธุรกิจฯเข้าใจว่าคงหมายถึงการจัดตั้งหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (TCCI) นั้น ทางสภาธุรกิจไทย-เวียดนามได้หารือกับทางสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครโฮจิมินห์ และสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนาม (TBA) มีการศึกษากฎระเบียบและข้อบังคับของทางเวียดนาม เพื่อจัดตั้งหอการค้าขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งตรงกับ 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เวียดนาม และเวียดนามโดนล็อกดาวน์ทั้งโฮจิมินห์แล้วก็ฮานอย โรงงานไทยที่ไปตั้งที่ 2 เมืองนี้ประมาณ 10 โรงงานก็ได้ต้องล็อกดาวน์ด้วย เสร็จแล้วก็เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม โรงงานที่อยู่เมืองอื่นนอกฮานอยและโฮจิมินห์ก็ไม่ได้มีปัญหายังสามารถผลิตได้