ส่งออกทำนิวไฮสูงสุดรอบ 6 ปี หลังยอดส่งออก ต.ค.ฉลุยโต 13.1%

พาณิชย์มั่นใจหาก 2 เดือนสุดท้ายได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดันยอดส่งออกทั้งปี’60 โต 10% สูงสุดในรอบ 6 ปี หลังยอดส่งออก ต.ค. ฉลุย โต 13.1% สูงสุดในรอบ 6 ปี แง้มคาดการณ์เป้าส่งออกปี’61 โตชะลอเหลือ 5-6% จากฐานที่สูงในปีนี้ รอลุ้นดอกเบี้ยเฟด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนตุลาคม 2560 มูลค่า 20,083.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 6 ปีนับจากปี 2554 และเมื่อหักรายได้จากการส่งออกน้ำมันและทองคำออกแล้วก็ยังขยายตัว 12.5% ส่วนยอดการนำเข้า มีมูลค่า 19,868.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.5% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 214.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้ยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 195,518.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.65% นำเข้ามูลค่า 183,072ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.61% ซึ่งไทย ได้ดุลการค้า 12,445.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

“กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่ายอดส่งออกอีก 2 เดือน แม้ว่าไม่ได้มีมาตรการอะไรเพิ่วเติมหากสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,550ล้านเหรียญสหรัฐจะทำให้การส่งออกขยายตัว 8% แต่ถ้าทำงานหนักขึ้นจนยอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 19,627 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจทำให้ทั้งปีขยายตัว 9% และหากสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ 10% มูลค่าประมาณ 236,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2554 ที่เคยขยายตัว 15.15%”

นางสาว พิมพ์ชนก อธิบายว่าประเด็นที่พอใจสำหรับการส่งออกปีนี้คือภาคอุตสาหกรรมที่ไทยกังวลว่าจะย้ายฐานการลงทุนออกไป สามารถเทิร์นอราวด์กลับมาได้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกดี และหากเทียบสัดส่วนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้วไทยเป็นเบอร์ 2รองจากสิงคโปร์ ถือว่าการส่งออกของไทยยังมีความแข็งแกร่ง

อีกทั้งสถานการณ์การส่งออกข้าวที่ขยายตัวดี และไทยสามารถระบายสต็อกข้าวสารของรัฐบาลที่เป็นแรงกดดันตลาดออกไปได้ และคาดว่าจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย 10 ล้านตัน ส่วนปีหน้ายังต้องติดตามภาวะเอลนีโญ ซึ่งไทยจะต้องพยายามผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีการพัฒนาเพิ่มมูลค่าแทนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ขณะนี้ได้คาดการณ์เป้าหมายการส่งออก ปี 2561 เบื้องต้นอาจะขยายตัวอย่างน้อย 5-6% จากปี ซึ่งมีการขยายตัวเป็นฐานที่สูงแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยทางสำนักฯ อยู่ระหว่างเตรียมประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะต้องรอผลสรุปการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หากปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าอยู่มนระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากที่ประเมินเบื้องต้นว่าไม่น่าจะหลุด 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ขณะที่สมมุติฐานการส่งออกในปีนี้ คาดการณ์บนพื้นฐานว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ในกรอบ 33.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ในส่วนของแผนการผลักดันการส่งออกในปีหน้า คงยังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการส่งเสริมการทำ อี-คอมเมิร์ช เพื่อเพิ่มช่องทางการทำตลาดให้เกษตรกร และลดต้นทุน

อนึ่ง สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคมที่ขยายตัว 13.1% เป็นผลจากการส่งออกของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ที่เพิ่มขึ้น 9.6% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ยางพารา เพิ่ม 23.5% มันสำปะหลัง เพิ่ม 15.6% ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 6.9% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 10.5% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 13.8% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 มีสินค้าที่ส่งออกขยายตัวสูง เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 25.9% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 63.2% คอมพิวเตอร์และรชิ้นส่วนประกอบ เพิ่ม 13.4% น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 42%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ เพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่ม 14.6% ได้แก่ สหภาพยุโรป เพิ่ม 28.9% สหรัฐฯ เพิ่ม 11.1% ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.3% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 11.9% เช่น จีน เพิ่ม 17% CLMV เพิ่ม% และเอเชียใต้ เพิ่ม 31.9% ส่วนอาเซียน เพิ่ม 7.1% และตลาดศักยภาพรอง เพิ่ม 14.9% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 19.9% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 9.1% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 4% แอฟริกา เพิ่ม 11.4% และกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 139.7%