“พาณิชย์” ผนึกกำลัง ส.อ.ท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริม-ผลักดันการส่งออก ขยายโอกาสทางการค้า

“พาณิชย์” ผนึกกำลัง ส.อ.ท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทย เตรียมประสานกลไกที่มีอยู่ร่วมกันทำงาน ทั้งการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก การขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน และการพัฒนาผู้ประกอบการ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. และคณะ เข้าพบ ได้มีการหารือเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับ ส.อ.ท. ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยใช้กลไกที่มีอยู่ในการสร้างและขยาย ความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อผนึกกำลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าเชิงรุก และการลงทุนของไทยให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การเจรจาความตกลงทางการค้า การจัดตั้งกลไกสนับสนุนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมร่วมกัน และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการทางการค้า และการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้ง ในและต่างประเทศ

สำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและพัฒนาผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ จัดทำกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออก ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ส่งผลให้การส่งออกปี 2560 ขยายตัวได้สูงขึ้น ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ขอรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการ SME Proactive เฟส 3 เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางนันทวัลย์ กล่าวด้วยว่า “การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการหาตลาดใหม่และส่งเสริมการส่งออกสินค้านวัตกรรมภายใต้โครงการ SMEs Proactive นี้ ทำต่อเนื่องมาหลายปี และได้รับการตอบรับที่ดีมาก เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถบุกเจาะขยายตลาดได้หลายพันรายต่อปี ดังนั้น กระทรวงฯ จึงตั้งใจจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ สายด่วน 1169”

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และการเจรจาในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ซึ่งกระทรวงฯ มีแผนการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในปี 2561 เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส.อ.ท. เสนอความเห็นว่า ควรเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในวงกว้างยิ่งขึ้น และเพิ่ม ช่องทางการเผยแพร่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกรอบความตกลงต่าง ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นางนันทวัลย์แจ้งว่า ยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและกำหนดท่าทีในการเจรจา ตลอดจนการร่วมคณะเพื่อไปเจรจาเปิดตลาดการค้าการลงทุน ในส่วนของการค้าชายแดน นั้น ส.อ.ท. ขอให้กระทรวงฯ ผลักดันการเจรจาขยายเวลาการเปิด-ปิด ด่านที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านให้ตรงกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกใน การขนส่งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการสนับสนุนขยายการลงทุนในตลาดใหม่ให้มากขึ้น พร้อมทั้งขอให้กระทรวงฯ พิจารณาทบทวน พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวอีกด้วย
นางนันทวัลย์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ มีแผนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในชุมชน และท้องถิ่น ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพัฒนาศักยภาพในการประกอบธุรกิจที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ ที่ทันสมัย เข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยการฝึกอบรมผ่านสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA : New Economy Academy) ของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งผลักดันการใช้หลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยสมาชิก ส.อ.ท. สามารถที่จะเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้ได้

ส.อ.ท. ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยขอให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ สินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน เข้าไปจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐมากขึ้น ทั้งนี้ นางนันทวัลย์ แจ้งว่า ข้อคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว


นอกจากนั้น ยังได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานบริการต่าง ๆ ของกระทรวงฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ การจัดเก็บข้อมูลสินค้าบนระบบ e Catalogue Service การใช้มาตรฐานสินค้าสากล (Barcode Standard) และการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรการออกแบบ ทั้งนี้ นางนันทวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงฯ มีแผนที่จะพัฒนางานบริการต่าง ๆ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานสากลผ่านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและเพิ่มจำนวนบุคลากร ผู้ตรวจสอบ ซึ่งขอให้ ส.อ.ท. มั่นใจว่า ภาคเอกชนจะได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และดียิ่งขึ้น