พาณิชย์ส่งไม้ต่ออุตฯ คุม “ห้ามส่งออกถ่านหิน” ธ.ค.64

ถ่านหิน

พาณิชย์จ่อยกเลิกประกาศส่งออกถ่านหินฉบับที่ 86 ธ.ค.นี้ โยกอำนาจให้อุตฯยึด พ.ร.บ.แร่กำกับดูแล หวังสร้างความมั่นคงพลังงานรักษ์โลก ด้าน กพร.มั่นใจไม่กระทบรายได้จากการส่งออกแร่ พร้อมปัดไม่เกี่ยวกับปิดเหมืองอัคราฯ ไทย refine ได้เอง

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 พ.ศ. …. (สินค้าถ่านหิน) จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

โดยเป็นผลจากที่ประชุมหารือร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 เห็นควรให้ กพร.พิจารณาควบคุมการส่งออกถ่านหินที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 แทน พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า ปี 2522

ซึ่งขณะนี้ทาง กพร.ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและสภาพแร่ที่ห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีปพ.ศ. 2564 ตามมติที่ประชุมแล้ว มีผลใช้บังคับวันที่ 17 ธันวาคม 2564 จึงได้ยก (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เพื่อลดความซ้ำซ้อน

แหล่งข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเรื่อง กำหนดชนิดและสภาพแร่ที่ห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2564 เรียบร้อยแล้ว

โดยจะเป็นการกำหนดไว้ว่า แร่ 4 ชนิด คือ สินแร่ทองคำ สินแร่ที่มีทองคำผสม โลหะผสมทองคำที่เกิดจากการประกอบโลหกรรม ถ่านหิน ห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักร

ซึ่งถ่านหินนั้นในอดีตได้สั่งห้ามส่งออกอยู่แล้ว และในขณะนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์บังคับ แต่ต่อมา พ.ร.บ.แร่ 2560 ตามมาตรา 104 เพื่อประโยชน์ในความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัยของประชาชน และมาตรา 166 บทลงโทษ ได้ให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ จึงนำมาประกาศตามฐานอำนาจ พ.ร.บ.แร่

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถ refine ได้เองแล้ว จึงส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยไม่เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทที่ทางรัฐบาลไทยสั่งปิดเหมืองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

ส่วนสาเหตุของการสั่งห้ามส่งออกนั้นจากที่จะมีการลดกำลังการผลิตถ่านหินลิกไนต์ในประเทศจากปีละ 14 ล้านตัน ในปี 2561 และ 10 ล้านตัน ในปี 2573 กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้นส่งผลต่อแร่เชื้อเพลิงประเภทถ่านหินต่าง ๆ

การขอประทานบัตรใช้เวลายาวนานขึ้น เพราะประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่มากขึ้น

ทั้งนี้ การห้ามส่งออกดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้การส่งออก หรือค่าภาคหลวงหรือไม่นั้น จะเห็นได้จากค่าภาคหลวงตาม พ.ร.บ.แร่ มาตรา 131 ผู้ถือประทานบัตร ผู้รับใบอนุญาตขุดหาแร่รายย่อย ผู้แจ้งการร่อนแร่ ผู้รับใบอนุญาตแต่งแร่ ผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม หรือผู้รับใบอนุญาตครอบครองแร่ ต้องชำระค่าภาคหลวงแร่ ดังต่อไปนี้

1.แร่ที่กำหนดไว้ในประทานบัตร รวมถึงแร่อื่นที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมือง 2.แร่อื่นที่เป็นผลพลอยได้จากการแต่งแร่ หรือตะกรันที่มีแร่ชนิดอื่นเจือปนอยู่เกินปริมาณที่อธิบดีกำหนด

ซึ่งยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ 3.แร่ที่ได้จากการขุดหาแร่รายย่อยหรือการร่อนแร่ 4.แร่ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองตามมาตรา 97 วรรคสอง ซึ่งแร่นั้นยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ 5.การซื้อแร่ที่ตกเป็นของแผ่นดิน

หากปรากฏว่าแร่นั้นยังมิได้ชำระค่าภาคหลวงแร่ ดังนั้นการห้ามส่งออกจึงไม่กระทบกับเงินค่าภาคหลวงใด ๆ ส่วนเรื่องรายได้จากการส่งออก ในเชิงมหภาคคาดว่าจะถูกชดเชยด้วยเงินที่ต้องนำเข้าหรือจ่ายไปเพื่อซื้อถ่านหินจากต่างประเทศ

“ในประกาศได้ให้เหตุผลการห้ามส่งออกถ่านหินไว้ว่า เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน ส่วนอนาคตจะยกเลิกการห้ามหรือไม่ คงต้องพิจารณาในหลายบริบทประกอบกัน เช่น สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมีมากขึ้น เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป สภาวะทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค”