“พาณิชย์” ลุ้นสรุปผล FTA ไทย-ปากีสถาน หวังดันมาตรฐานสินค้าฮาลาลไทยเข้าตลาดมุสลิมใหญ่อันดับ 2 ของโลก

แฟ้มภาพ

“พาณิชย์” พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 9 เพื่อเร่งสรุปผลเจรจาลดและยกเลิกภาษีนำเข้า รวมทั้งผลักดันการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมสำหรับสินค้าฮาลาลไทย ช่วยขยายโอกาสส่งออกเข้าตลาดมุสลิมขนาดใหญ่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับปากีสถานว่าการเจรจามีความคืบหน้าไปมาก โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายสรุปผลการจัดทำ FTA ให้สำเร็จภายในกลางปีหน้า ซึ่งนอกจากการเจรจาลดและยกเลิกภาษีนำเข้าแล้ว ไทยยังได้เสนอให้จัดทำความตกลงยอมรับร่วมสำหรับสินค้าฮาลาลของไทย เพื่อช่วยขยายโอกาสการค้าและการส่งออกของไทยไปยังตลาดมุสลิมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเฉพาะสินค้าอาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการค้าที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรในภาคใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ก่อนเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งจะเป็นการหารือต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดระหว่างกัน เร่งจัดทำกฎถิ่นกำเนิดรายสินค้า และผลักดันการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมสำหรับสินค้าฮาลาลของไทย รวมทั้งหารือประเด็นคงค้างด้านกระบวนการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า นอกจากนี้ จะใช้โอกาสนี้หยิบยกปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสินค้าของไทยไปปากีสถานด้วย

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ไทย-ปากีสถาน เริ่มขึ้นเมื่อปี 2558 โดยประเมินว่าผลการเจรจาดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยจะช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี และเพิ่มโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพไปยังปากีสถาน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มีประชากรประมาณ 200 ล้านคน และสามารถนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะวัตถุดิบจากปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ปากีสถานยังสามารถเป็นประตูการค้าสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศมุสลิมด้วย

ในปี 2559 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 38 ของไทยในตลาดโลก และอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 1,134 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.8 โดยการส่งออกของไทยไปปากีสถานมีมูลค่า 1,015 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.19 และการนำเข้าของไทยจากปากีสถานมีมูลค่า 119 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.82 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าเฉลี่ย 1,040 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.33 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.23 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปปากีสถาน ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาบภายในแบบลูกสูบ เครื่องเทศและสมุนไพร เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เหล็ก และผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากปากีสถาน ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช