ตลาดข้าวถุงไม่ฟื้น ‘มาบุญครอง’ ลุยส่งออกสู้

ข้าวถุง
แฟ้มภาพ

ตลาดข้าวถุงยังไม่คึกคัก ต้องใช้เวลาหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงอีกไม่ต่ำกว่า 2 เดือน พร้อมคาดการณ์ข้าวถุงจะกลับสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาอีก 6 เดือนถึง 1 ปี พบปัจจัยหลังร้านอาหารถูกปิดให้บริการ-นักท่องเที่ยวหาย-ผู้บริโภคหันไปหาอาหารประเภทอื่น ด้านผู้ผลิตเองก็พบปัญหาแรงงานขาดแคลน-ติดโควิด ซัพพลายเชนเกิดปัญหาเพิ่มต้นทุนบริหารจัดการมากขึ้น

นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แบรนด์ข้าวมาบุญครอง กล่าวหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้นั้น จากการประเมินตลาดข้าวถุงเบื้องต้นพบว่า “ตลาดยังไม่กลับมาคึกคักมากนัก” ยังคงต้องใช้ระยะเวลา 1-2 เดือนจากนี้ตลาดจึงจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมา และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีทีเดียว

จากปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของตลาดข้าวถุงก็คือ การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรให้ได้ 70% จนสามารถเปิดประเทศได้ถึงตอนนั้นกำลังซื้อจะกลับมา โดยมาตรการของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นให้กำลังซื้อและยอดขายข้าวถุงกลับมาดีขึ้น แต่ยังต้องอาศัยการบริโภคภายในของคนไทยเป็นหลัก เพราะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากนัก

“สถานการณ์ตลาดข้าวตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งถึงการระบาดระลอก 3 ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ตลาดข้าวถุงชะลอตัวเป็นอย่างมาก ปริมาณความต้องการข้าวถุงโดยรวมทั้งตลาดทั่วไป ห้างโมเดิร์นเทรด การสั่งซื้อออนไลน์ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าของสินค้า โดยเฉพาะยอดขายข้าวถุงผ่านห้างโมเดิร์นเทรดลดลงถึง 25-35% ร้านอาหารลดลงมากกว่า 50% ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคข้าวลดลง หันไปซื้ออาหารประเภทอื่น เช่น อาหารกระป๋องมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดจากมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ ร้านอาหารถูกปิด นักท่องเที่ยวหายไปกว่า 30-40 ล้านคน ส่งผลต่อความต้องการบริโภคข้าวลดลงอย่างมาก” นายสมเกียรติกล่าว

ทางด้านผู้ประกอบการค้าข้าวเองก็ยังประสบปัญหาเรื่องของโควิด-19 กระทบต่อซัพพลายเชนการผลิต เช่น พบแรงงานหรือจุดกระจายสินค้ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดรับสินค้าหรือเลื่อนส่งสินค้าออกไป ทำให้เกิดต้นทุนและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่มากขึ้นระหว่าง 5-10% ที่เกิดจากปัจจัยนี้ โดยต้นทุนไม่ได้เพิ่มจากต้นทุนวัตถุดิบแต่อย่างไร “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการข้าวถุงจะจัดทำโปรโมชั่น ห้างสรรพสินค้าจัดทำโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 แต่ความต้องการบริโภคข้าวถุงก็ยังไม่เติบโต ประกอบกับช่วงนี้ราคาข้าวก็ลดลง แต่ก็ยังไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค” นายสมเกียรติกล่าว

สำหรับราคาขายปลีกข้าวถุงขนาด 5 กก.พบว่า ข้าวหอมมะลิ ถุงละ 150-180 บาท, ข้าวขาว 80-100 บาท ขณะที่ต้นทุนราคาข้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบข้าวหอมมะลิ กก.ละ 20-25 บาท, ข้าวขาว กก.ละ 13-15 บาท และข้าวเหนียว กก.ละ 20 บาท ค่าบริหารจัดการราคาข้าวถุงก็ยังไม่สูงมากนัก ผู้ประกอบการจึงต้องอาศัยการผลักดันการส่งออกข้าวไปต่างประเทศด้วย แต่ต้องยอมรับปัญหาต้นทุนค่าขนส่งโดยเฉพาะค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ยังเป็นอุปสรรคของการส่งออกอยู่

สำหรับแบรนด์ “ข้าวมาบุญครอง” นั้น นายสมเกียรติกล่าวว่า ในส่วนของบริษัทการทำตลาดข้าวปี 2564 ต้องปรับสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 30-35% ขณะที่ตลาดในประเทศอยู่ที่ 65-70% จากเดิมที่บริษัทจะทำตลาดในประเทศอยู่ที่ 75-80% ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศไม่เติบโตจากปัญหาของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ปีนี้บริษัทจึงดันตลาดส่งออกมากขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อจากผู้นำเข้ายังคงเติบโต และบริษัทเน้นทำตลาดข้าวพรีเมี่ยมเป็นหลักในส่วนของตลาดข้าวหอมมะลิและข้าวหอมปทุม