อีคอมเมิร์ซ หนุนบริการโลจิสติกส์โตแนะเอกชนเร่งปรับตัว

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ หนุนบริการโลจิสติกส์ขยายตัวต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal ปรับโมเดลธุรกิจสู่ B2C

วันที่ 8 กันยายน 2564 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่สั่งการให้ศึกษาโอกาสให้กับธุรกิจไทยจากการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

โดยพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวมากขึ้น จากการที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซึ่งคาดว่าจะยังคงอยู่ต่อเนื่อง แม้จะพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว และภายใต้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ธุรกิจบริการโลจิสติกส์มีการขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการรับส่งเอกสารและสิ่งของตามการเติบโตของการค้าออนไลน์

ทั้งนี้ แม้ธุรกิจบริการโลจิสติกส์จะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านราคา เทคโนโลยี และการให้บริการ หากผู้ให้บริการต้องการจะอยู่รอด และทำให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง จะต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุค Next Normal โดยเฉพาะธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ จะต้องปรับโมเดลธุรกิจสู่ B2C (Business to Customer) และให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน Network เพิ่มขึ้น มีมาตรการด้านสุขอนามัยในระหว่างการขนส่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น มีระบบรับรองตนเองของบริษัทผู้ขนส่ง (พาหนะขนส่งและพนักงาน) และต้องมีความยืดหยุ่นกรณีเกิดการจำกัดและปรับเปลี่ยนตารางเวลาการเดินรถ เพราะอาจจะมีความเข้มงวดเวลาผ่านจุดผ่านแดน หรือการปิดด่านบางด่านชั่วคราว

สำหรับโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ สนค. เห็นว่า ควรหาโอกาสจากช่องว่างทางธุรกิจโลจิสติกส์ โดยการปรับตัวให้สอดคล้องกับ Mega Trend เช่น การให้บริการสังคมสูงอายุ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้น เป็นโอกาสในการให้บริการสินค้ากับบุคคลเฉพาะกลุ่มสูงวัย และปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ เช่น PM2.5 และแนวคิดเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทำให้เกิดแนวโน้มการขนส่งแบบลดมลพิษ การบริหารจัดการการขนส่งที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และรัฐอาจจำเป็นต้องออกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในด้านการขนส่ง

นอกจากนี้ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อาทิ  Artificial Intelligence (AI) เทคโนโลยีที่ใช้โรบอทเข้ามาควบคุมการทำงานวางแผนกำลัง การจัดการคลังสินค้า เทคโนโลยี 5G  Internet of Things (IoT) Dynamic Route Planning Systems ระบบช่วยลดระยะทางในการขนส่ง Augmented Reality (AR) ใช้ในการระบุตำแหน่งของสินค้าบนรถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งใช้ออกแบบบริการใหม่ ๆ อาทิ บริการประกอบติดตั้งสินค้า หรือบริการซ่อมบำรุง

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างมาตรฐานความสะอาด ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าและสุขอนามัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลด้วย Big Data (Data Driven Business Model) และการเชื่อมต่อผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในกลุ่มต่าง ๆ ค้นหาความต้องการเพื่อออกแบบบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการ และสร้างความร่วมมือหรือเป็นหุ้นส่วนเพื่อเกื้อหนุนธุรกิจอื่นเป็น supply chain ผู้ประกอบการรายเล็กอาจต้องมีการรวมกลุ่มกัน หรือเป็นหุ้นส่วนใน supply chain กับธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม สนค. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสร้างเครือข่ายและสร้างโอกาสให้แก่ภาคบริการโลจิสติกส์ รวมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลน่าจะเป็นประโยชน์ โดยได้จัดทำฐานข้อมูลการค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ ภายใต้ชื่อ “Logistics+” เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพของภาคบริการโลจิสติกส์และสนับสนุนการจัดทำนโยบายการค้าโลจิสติกส์ในอนาคต โดยทุกท่านสามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์ www.คิดค้า.com