โควิด-การเมือง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. 64 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมาที่ 39.6 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี 11 เดือน ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้า อยู่ที่ระดับ 19.8 ต่ำสุดในรอบ 32 เดือน เหตุผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังกังวลปัญหาโควิด การเมือง กระทบเศรษฐกิจและการบริโภค

วันที่ 9 กันยายน 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน สิงหาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาที่ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 11 เดือน และยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6


ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 33.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 48.6 โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3-4 ความกังวลกับแผนกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 0.7-1.2% ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมือง ผู้บริโภคกังวลต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพ และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จาก มาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ สภาพัฒน์รายงาน GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 7.5% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% การส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 20.26% การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้ง แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ 

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมามาตรการล็อกดาวน์มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจบางประเภทต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของผู้บริโภคทำให้มีการระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้นและประชาชนยังมีความกังวลเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม และจากมาตรการผ่อนคลาย ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นมา เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การแพร่กระจายของโควิดรอบล่าสุด รัฐบาลจะมีการประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ประชาชนยังติดตามสถานการณ์ทางการเมืองหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ ไปแล้ว จะกลายเป็นการเมืองที่ลงสู่ถนนมากขึ้นหรือไม่ อีกทั้ง ปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ในช่วงเดือนกันยายน และ ตุลาคมนี้

โดยปัจจัยเหล่านี้ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวจากที่ระดับ 0 ถึง ติดลบ 2% มาอยู่ในระดับ 0 – 2% ได้ในปีนี้ อย่างไรก็ดี อาจจะมีการประมาณการอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2564 นี้

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 25-31 ส.ค.64 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 19.8 ลดลงจากระดับ 20.7 ในเดือนก.ค. 64 เป็นการปรับตัวลดลงในทุกภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต่ำสุดในรอบ 32 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 62

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.4 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 20.5, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 20.8 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 21.8, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 23.7 ลดลงจากเดือนก.ค. ที่ 24.8, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.8 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 20.7, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 19.3 ลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 20.1 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 16.9 ลดลงจากเดือน ก.ค.ที่ 17.8

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ส.ค.นี้ลดลง มาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต, มาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 29 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ได้แก่ เร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เร่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดภายในประเทศ ปรับมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำ สร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย