
ประมูลข้าวทั่วไปลอตสุดท้าย เอกชนเสนอซื้อเกือบหมดโกดังให้ราคาเฉลี่ย กก.ละ 7 บาท ธนสรรไรซ์คว้าประมูลสูงสุด 38,000 ตัน ด้านกรมการค้าต่างประเทศย้ำการระบายข้าวมีขั้นตอนการทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมแจงกรณีบริษัททีพีเค เอทานอล ถูกตัดสิทธิ์ในการประมูลซื้อข้าวรัฐ
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ชี้แจงกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า มีการขายข้าวคุณภาพดีในคลัง บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 ในราคาต่ำเทียบเท่ากับข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ กับการตัดสิทธิ์บริษัทที่ติดแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าร่วมประมูลด้วยข้อกล่าวหา “มาตรฐานที่แตกต่าง” กันระหว่างบริษัททีพีเค เอทานอล ที่ถูกตัดสิทธิ์ กับบริษัทพี เอส ซี สตาร์ซ โปรดักซ์ ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่มีกรรมการเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลในเรื่องนี้ขอยืนยันว่า กรมการค้าต่างประเทศทำงานโปร่งใส ตามขั้นตอนที่ได้รับมอบหมายจาก คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ดำเนินการทุกครั้งทำตามขั้นตอนและกระบวนการที่เหมือนกันหมด มีการชี้แจงและเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อเข้าตรวจสอบคลังก่อนการประมูลอยู่แล้ว ไม่ได้มีการใช้สองมาตรฐานในการพิจารณา ซึ่งกรณีที่บางบริษัทได้รับการพิจารณาเอกสารครบก็จะผ่านคุณสมบัติขั้นต้น แต่หากตรวจสอบในภายหลังแล้วพบว่า มีผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล “ขาดคุณสมบัติ” ก็ต้องพิจารณาตัดสิทธิ์ แต่กรณีของบริษัทที่ถูกอ้างถึง (บริษัทพี เอส ซี สตาร์ซ โปรดักซ์) ปรากฏไม่มีชื่อบุคคลที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล
“การขายข้าวคุณภาพดีในคลัง บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 ครั้งแรกถูกยกเลิกเพราะราคาต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นไปตามมติ นบข.ครั้งที่ 1/2560 ซึ่งกำหนดให้ระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน ซึ่ง บจก.กาญจนาอาหารสัตว์ชนะไปในราคา กก.ละ 6.10 บาท” นางดวงพรกล่าว
ส่วนกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดคลังตรวจคุณภาพข้าวใหม่อีกครั้งนั้น ยอมรับว่า “ทำได้ยาก” เพราะผ่านพ้นขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้าวมานานแล้ว แต่ยืนยันว่าหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน ภายใต้คณะอนุกรรมการชุดนี้มีการตั้ง คณะทำงาน 100 สาย ตรวจนับปริมาณ-เก็บตัวอย่างข้าว และส่งไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ แบ่งเป็น 1) ข้าวที่ถูกมาตรฐาน (เกรด P) มีจำนวน 2.20 ล้านตัน 2) ข้าวที่ผิดมาตรฐาน แต่ยังปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้ 10 ล้านตัน (เกรด A ปริมาณ 6.26 ล้านตัน เกรด B ปริมาณ 3.74 ล้านตัน) 3) เป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก เกรด C ปริมาณ 5.47 ล้านตัน และ 4) ข้าวผิดชนิด 0.09 ล้านตัน รวมปริมาณ 17.76 ล้านตัน มีการระบาย 20 ครั้ง “ไม่ได้พบปัญหาอะไร”
นางดวงพรกล่าวถึงผลการเปิดประมูลข้าวเพื่อการบริโภคในสต๊อกรัฐบาลรอบสุดท้าย ปรากฏมีผู้เสนอซื้อราคาสูงสุดรวม 11 ราย ประมูลข้าวไป 99.98% ของปริมาณที่เปิดประมูลกว่า 160,000 ตัน จาก 24 คลัง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,136 ล้านบาท หลังจากนี้จะนำผลการประมูลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งจะมีในวันที่ 4 สิงหาคม 2560
ส่วนข้าวในสต๊อกรัฐบาลขณะนี้เหลืออยู่ปริมาณ 2.6 ล้านตัน ที่ต้องนำมาเปิดประมูลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการประมูลเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่สำหรับการบริโภคของคนและสัตว์ แต่ยังติดคำสั่งศาลปกครองกลาง ให้ “ชะลอ” การประมูลออกไปก่อน หากสามารถเปิดระบายข้าวได้หมดในเดือนกรกฎาคมนี้ ช่วยลดภาระการจัดเก็บของรัฐวันละ 5 ล้านบาท อีกทั้งยังจะช่วยให้กลไกตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถรองรับผลผลิตข้าวลอตใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้
รายงานข่าวระบุว่า ราคาประมูลข้าวเพื่อการบริโภครอบสุดท้าย ปรากฏมีการเสนอซื้อตั้งแต่ตันละ 4,527-10,202 บาท หรือคิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 7,364.5 บาท โดยรายชื่อผู้เสนอซื้อปริมาณสูงสุด 5 บริษัทตามลำดับ ได้แก่ 1) บริษัทธนสรรไรซ์ ปริมาณ 38,443 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 9,652 บาท 2) บริษัทไทยแกรนลักซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไรซ์ ปริมาณ 35,994.34 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 6,209 บาท 3) บริษัท ร่วมเจริญพัฒนาการค้าข้าว ปริมาณ 25,411.46 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 6,501 บาท 4) บริษัทกำแพงเพชร เอ็กซ์ปอร์ต ปริมาณ 33,158.72 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 5,388 บาท 5) บริษัทแคปปิตัลซีเรียลส์ ปริมาณ 22,622 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 5,155 บาท